การศึกษาเปรียบเทียบปริมาณแทนนินที่สกัดจากใบหูกวางและเปลือกกล้วย ในการบำบัดน้ำเสีย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

กัลยรัตน์ สุริยะกมล, ทฤษฎี พงษ์ประเสริฐ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

มีนารัตน์ วงศ์เสน่ห์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

น้ำเสียจากบ้านเรือน ชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมประเภท โรงฆ่าสัตว์ โรงผลิตกระดาษ โรงงานทอผ้าและโรงงานประกอบอาหาร จัดเป็นน้ำเสียประเภทน้ำเสียอินทรีย์ที่มีการปนเปื้อนของสารจำพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันจากเศษอาหาร และคราบน้ำมันที่เหลือจากการประกอบอาหาร น้ำเสียประเภทนี้หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการหมักหมม การเน่าเหม็นและเป็นอัตรายกับสัตว์น้ำ ซึ่งน้ำเสียเหล่านี้สามารถนำมาบำบัดโดยวิธีกระบวนการทางเคมี (Chemical process) ทำได้โดยเติมสารเคมีเพื่อทำให้เกิดตะกอน (Coagulant) สารที่นิยมใช้คือ สารส้ม (โพแทสเซียมอะลัม) ซึ่งสารเคมีจะทำให้เกิดการรวมตัวของคอลลอยด์ขนาดเล็กในน้ำเสียแล้วเกิดการตะกอน แต่การบำบัดน้ำเสียโดยวิธีกระบวนการทางเคมีจะส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนของโลหะในน้ำและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและยังมีค่าใช้จ่ายสูง จึงมีแนวคิดการนำสารจากธรรมชาติจำพวกสารสกัดแทนนินมาใช้เป็นสารสร้างตะกอนมาบำบัดน้ำเสียซึ่งมีต้นทุนและความเป็นพิษต่ำกว่าการใช้สารเคมี

แทนนินเป็นสารประกอบพอลิฟีนอล มีสถานะเป็นกรดอ่อน สามารถตกตะกอนกับโปรตีนประเภทต่าง ๆ เช่น เจลลาติน ไกลโคไซด์ อัลคาลอยด์ รวมทั้งโมเลกุลขนาดใหญ่ เช่น เซลลูโลส เพกตินและโลหะหนักบางชนิด เช่น เหล็ก ตะกั่วและสังกะสี โดยพบว่ามีพืชหลายชนิดที่มีสารแทนนินเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ ใบฝรั่ง ใบหูกวาง ใบมันสำปะหลัง เปลือกมังคุด เปลือกกล้วยและกาบมะพร้าว สารสกัดแทนนินส่วนใหญ่สกัดด้วยตัวทำละลาย เช่น น้ำ แอลกอออล์และอะซิโตน หรือใช้ตัวทำละลายผสม เช่น เมทานอลกับน้ำ เอทานอลกับน้ำและอะซิโตนกับน้ำ ส่วนการวิเคราะห์หาปริมาณสารสามารถหาได้หลายวิธี เช่น เทคนิคทางเคมีไฟฟ้า (Electrochemistry) เทคนิคโครมาโทกราฟี (Chromatography) และเทคนิค UV-Visible spectroscopy ในงานวิจัยนี้จะใช้เทคนิค UV-Visible spectroscopy เนื่องจากเทคนิคนี้จะใช้วิเคราะห์สารอินทรีย์ สารประกอบเชิงซ้อน ทั้งที่มีสีและไม่มีสี สามารถวิเคราะห์ได้ในเชิงคุณภาพและปริมาณ และเป็นเทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย

ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้ผู้จัดทำโครงงานจึงมีความสนใจที่จะศึกษาถึงปริมาสารสกัดแทนนินในเปลือกใบหูกวางและเปลือกกล้วยและศึกษาประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียโดยใช้สารสกัดแทนนินจากใบหูกวางและเปลือกกล้วยเพื่อเป็นแนวทางในการลดการใช้สารเคมี อีกทั้งยังช่วยในการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมตลอดจนการนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้กับแหล่งน้ำเสียในสถานที่อื่น ๆ ต่อไป