การพัฒนาเบาะรองนอนจากพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิยูรีเทนผสมน้ํามันเมล็ดยางพาราสำหรับผู้ป่วยติดเตียง

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สวรินทร์ สัมฤทธิ์, บัวสวรรค์ วัดตรง

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ลาวัลย์ ศิริสุข, วัชราภรณ์ แสนนา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างของน้ำมันเมล็ดยางพาราบริสุทธิ์และเมล็ดยางพาราดัดแปลงด้วยเครื่อง FT-IR ศึกษาอิทธิพลของไอโซไซยาเนตที่มีผลต่อการขึ้นรูปของพอลิยูรีเทนและศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมของพอลิออลจากน้ำมันเมล็ดยางพาราดัดแปลงและไอโซไซยาเนตต่อกระบวนการขึ้นรูปพอลิยูรีเทน โดยจะนำน้ำมันเมล็ดยางพาราบริสุทธิ์ไปดัดแปลงโครงสร้างผ่านปฏิกิริยาอิพอกซิเดชันและไฮดรอกซิเลชันเพื่อเปลี่ยนพันธะคู่ของกรดไขมันให้เป็นหมู่ไฮดรอกซิล เมื่อได้เป็นน้ำมันเมล็ดยางพาราดัดแปลงแล้ว จึงนำไปวิเคราะห์โครงสร้างด้วยเครื่อง FT-IR ปรากฏว่าพีคที่เลขคลื่น 3404 cm-1 พบหมู่ไฮดรอกซิลเกิดขึ้นในน้ำมันเมล็ดยางพาราดัดแปลง ในขณะที่น้ำมันเมล็ดยางพาราบริสุทธิ์ไม่ปรากฏ ยืนยันว่าเกิดหมู่ไฮดรอกซิลหลังจากดัดแปลงโครงสร้าง หลังจากนั้นจึงนำเมล็ดยางพาราดัดแปลงไปใช้ทดแทนสารประกอบไดออลในการเตรียมสารประกอบพอลิยูรีเทนร่วมกับพอลิออลเรซิน คือ Surfactant , Blowing agent และ Gelling catalyst ในปริมาณคงที่ผสมกับไอโซไซยาเนตโดยใช้อัตราส่วนที่แตกต่างกัน คือ ไอโซไซยาเนตที่ 6 กรัม และไอโซไซยาเนตที่ 8 กรัม เพื่อศึกษาอิทธิพลของไอโซไซยาเนตต่อการเกิดพอลิยูรีเทน ผลปรากฏว่าสูตรที่ใช้อัตราส่วนที่ใช้ไอโซไซยาเนต 6 กรัม พบว่ามีระยะการเกิด cream time เป็น 13 วินาที ซึ่งเกิดขึ้นตอนส่วนผสมยังเข้ากันได้ไม่ดี ทำให้พอลิยูรีเทนที่มีลักษณะแข็งและเปราะ จึงได้ปรับสูตรเพิ่มไอโซไซยาเนตเป็น 8 กรัม มีลักษณะของพอลิยูรีเทนที่ดีกว่าคือเมื่อเทใส่พิมพ์เกิดการจัดเรียงตัวง่าย มีลักษณะอ่อน แต่ยังคงเปราะ มีระยะการเกิด cream time 10วินาที จึงสรุปได้ว่าไอโซไซยาเนตที่เพิ่มจึ้นทำให้ระยะ cream time สั้นลง เนื่องจากอิทธิพลของปริมาณไอโซไซยาเนตที่มากขึ้นส่งผลให้เกิดปฏิกิริยากับน้ำได้อย่างว่องไว ระยะ cream time ที่ขึ้นอยู่กับความว่องไวของปฏิกิริยาจึงสั้นลง หลังจากนั้นไอโซไซยาเนตจึงไปทำปฏิกิริยากับหมู่ไฮดรอกซิลในพอลิออล จึงเกิดเป็นสายโซ่พอลิยูรีเทน ทำให้พอลิยูรีเทนมีความคงตัวและจัดเรียงตัวง่ายเมื่อเทใส่พิมพ์