การเพิ่มประสิทธิภาพของถ่านกัมมันต์ในการดูดซับเอทิลีนและปรับกระบวนการให้เหมาะกับสถานการณ์ COVID-19

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

อริสา วิเจดีย์, ณัฐพร จันทบุตร, ญาดานภัส รัฐไสย

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สถาพร สุติบุตร

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตถ่านกัมมันต์ดูดซับเอทิลีนจากชานอ้อยที่ผ่านกระบวนการกระตุ้นด้วยกรดอินทรีย์เพื่อนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ในการชะลอการสุกของกล้วยหอมทองระหว่างการขนส่ง ซึ่งจะใช้กรดอินทรีย์ที่มีความเข้มข้นต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ถ่านกัมมันต์ที่มีคุณภาพ จึงใช้ชานอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตถ่านกัมมันต์ เนื่องจากธรรมชาติของชานอ้อยมีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ 68 มีความหนาแน่น น้อยและหาได้ง่าย โดยกระบวนการทำได้แบ่งขั้นตอนออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การผลิตไบโอชาร์โดยใช้กรรมวิธีเผาแบบย้อนกลับซึ่งมีการทดสอบประสิทธิภาพของไบโอชาร์ดังนี้ ปริมาณรูพรุน ไอโอดีนนัมเบอร์และวิเคราะห์องค์ประกอบแบบประมาณ ได้แก่ เถ้า ความชื้น ปริมาณสารระเหย และคาร์บอนคงตัว เพื่อทดสอบความเหมาะสมในการนำมากระตุ้นกัมมันต์ด้วยกรดอินทรีย์ 2) การกระตุ้นกัมมันต์ด้วยกรดอินทรีย์และเมื่อได้ถ่านกัมมันต์ที่ผ่านการกระตุ้นด้วยกรดอินทรีย์แล้วนำถ่านกัมมันต์ที่เตรียมได้ไปทดสอบคุณสมบัติเช่นเดียวกับไบโอชาร์เพื่อสังเกตความแตกต่างที่เกิดขึ้นหลังจากกระตุ้นกัมมันต์ และศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับเอทิลีน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ covid 19 ทำให้ไม่สามารถทดสอบประสิทธิภาพได้ตามที่ตั้งไว้เราจึงปรับการทดสอบเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันและเหมาะกับเกษตรกรโดยเราจะปรับลดลงมาเหลือเพียงการทดสอบกสนดูดซับและปรับเปลี่ยนจากทดสอบการดูดซับไอโอดีนเป็นการทดสอบการดูดซับสี 3) การนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งมีการวางแผนที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์โดยการนำปัญหาที่ได้จากเกษตรกรในพื้นที่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสำหรับการขนส่งกล้วยหอมทองและเหมาะกับการใช้งานของเกษตรกรโดยตรง