การศึกษาวิธีการทำผงชาจากสารสกัดสมุนไพรใบรางจืดเพื่อการประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พิชามญชุ์ ฉั่ววิเชียร, ธัญชนก พินิจจิตรสมุทร, ณัฐภัสสร ฟักเขียว

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ณัฐพร คืนดี, โสภิดา สุขประเสริฐ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การศึกษาวิธีการเตรียมผงชาจากสารสกัดน้ำส่วนใบรางจืดเพื่อประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetic mellitus, T2DM) เนื่องจากในปัจจุบันอัตราผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตของ T2DM เพิ่มขึ้นในหลายประเทศและการเกิดโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันซึ่งบางครั้งเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ดังนั้นการแพทย์ทางเลือกโดยเฉพาะสมุนไพรจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัยและลดอาการผลข้างเคียงได้ดี สมุนไพรรางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) เป็นพืชสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีรสจืดเย็น นิยมใช้ใบ เถา และรากของรางจืดดอกม่วงในการรักษาสำหรับถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน และถอนพิษเบื่อเมา และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านการอักเสบ สารประกอบทางเคมีส่วนใหญ่ของสมุนไพรรางจืดเป็นสารประกอบในกลุ่มฟีนอล รายงานการวิจัยสารสกัดน้ำส่วนใบของสมุนไพรรางจืด ประกอบด้วยสาร rosmarinic acid caffeic acid และ vitexin และพบว่าสารสกัดนี้สามารถลดน้ำตาลในเลือดในหนูเบาหวานชนิดที่ 2 ผ่านกลไกของ GLUT4 ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดงานวิจัยและนำไปประยุกต์ใช้จริงในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งศึกษาช่วงเวลาและอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเตรียมผงชาจากสารสกัดน้ำส่วนใบรางจืดที่ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารสำคัญ (phenolic contents) สูงที่สุดด้วยวิธี DPPH assay และ Folin-Ciocalteu reagent