นวัตกรรมถุงเพาะชำรูปแบบใหม่สำหรับการเพาะกล้ายางพาราที่สามารถใช้ซ้ำได้
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ณัฐนรี จั่นหยง, อภิชญา พัฒนชัยโกศล
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ขุนทอง คล้ายทอง
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีมูลค่าในการส่งออกในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องในทุกปี แต่ปัญหาหลัก ๆ ที่พบของเกษตรกรคือ การเพาะกล้า เพราะการทำยางชำถุงเกษตรกรต้องทำการชำยางในถุงพลาสติก ซึ่งนอกจากจะพบปัญหาจากขยะพลาสติกแล้วเกษตรกรมักพบปัญหาระบบรากเสียหายจากการฉีกถุงเพาะชำ ทำให้ต้นกล้าไม่สามารถเจริญเติบโตต่อได้ ซึ่งต้นยางพาราที่มีรากแก้วเป็นรากหลักและมีรากแขนงแตกย่อยออกมา และมักจะเกิดลักษณะรากบางส่วนเจริญขดวนที่ก้นถุง เมื่อย้ายปลูกจำเป็นต้องตัดแต่งรากที่ผิดปกติเหล่านี้ออกไปทำให้ต้นยางมักชะงักการเจริญเติบโตเป็นประจำ ทางคณะผู้จัดทำจึงสนใจที่จะพัฒนาถุงเพาะชำสำหรับต้นยางที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและเนื่องด้วยต้นยางมีรากที่เจริญลึกลงไปตามแนวดิ่ง จึงต้องการออกแบบภาชนะเพาะชำที่สามารถนำต้นยางออกได้ง่ายไม่ทำลายระบบราก และเพิ่มฟังก์ชันเพิ่มในการนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้กับเกษตรได้อีกด้วย ในการเตรียมถุงเพาะชำจะนำขี้เลื่อยยางพารา กากถั่วเหลือง น้ำยางพารา น้ำส้มควันไม้ และสารละลายน้ำแป้ง (กลีเซอรอลผสมแป้งมันสำปะหลัง) ให้ความร้อนประมาณ 50 องศาเซลเซียสขณะผสม คนจนกระทั่งสารละลายเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เทส่วนผสมลงในแม่พิมพ์ เกลี่ยให้เรียบเสมอกัน แล้วนำไปอบต่อที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 8 ชั่วโมง นำแผ่นถุงเพาะชำที่ได้ไปทดสอบการย่อยสลายด้วยเครื่อง QUV accelerated weathering tester และทำการออกแบบถุงเพาะชำให้มีความสูง 25 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางที่ปากภาชนะ 7.3 เซนติเมตร มีสันนูนตามแนวตั้งที่ผนังด้านใน สูงประมาณ 2 มม. 8 เส้น เพื่อรบกวนการเจริญของรากไม่ให้ม้วนวนรอบภาชนะ เมื่อรากเจริญไปชนแนวสันนูนที่ผนังภาชนะจะเปลี่ยนทิศทางการเจริญตามแนวดิ่งของสันนูน โดยตัวถุงเพาะชำจะมีการติดซิปด้านข้าง 1 ด้าน ตามแนวยาวของถุงเพาะชำ เพื่อให้สามารถนำต้นกล้ายางพาราออกจากถุงได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้หากถุงเพาะชำย่อยสลาย กากถั่วเหลืองที่ถูกผสมลงไป จะสลายกลายเป็นแร่ธาตุให้กับต้นกล้า และน้ำส้มควันไม้ยังมีคุณสมบัติป้องกันเชื้อราและแมลงไม่ให้มากัดกินต้นกล้า
คำสำคัญ : ต้นกล้ายางพารา ถุงเพาะชำ รากวน การย่อยสลาย การติดซิป