การศึกษาคุณสมบัติทางเคมีและทางฟิสิกส์ของสารเมือกจากพืชสกุลกะทังกับประโยชน์ในการทอผ้าไหม
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ลำใย อินทพันธ์, ธิติพร เอี่ยมรัมย์, บุญญิสา แก้วดวงตา
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ธาราดล สิงห์สูงเนิน
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ในท้องถิ่นอำเภอลำปลายมาศ พบต้นไม้ชนิดหนึ่ง คือ ต้นหมี่ ซึ่งเป็นพืชในสกุลกะทังชาวบ้านนิยมนำใบมาใช้สระผม ทำเป็นสารเคลือบผมทำให้เงานุ่มลื่น เนื่องจากมีสารเมือกซึ่งมี Polysaccharide เป็นองค์ประกอบหลัก สารสกัดจากใบหมี่มีคุณสมบัติเป็นสารเพิ่มความหนืด และจากการศึกษาของกลุ่มพวกเราได้พบขั้นตอนการทอผ้าไหมของชาวบ้านจะมีการต้มข้าวสุกและกรองเอาน้ำข้าวมาชโลมบนเส้นไหมและหวีให้แห้งก่อนทอ จากการสอบถามพบว่า ในน้ำต้มข้าวสุกมีลักษณะเป็นสารเมือก เพื่อเคลือบเส้นไหมให้เส้นไหมอ่อนตัว เงางาม ไม่แข็งติดกัน เส้นไหมกลมและแน่นขึ้น กลุ่มของพวกเราจึงสนใจที่จะศึกษาคุณสมบัติทางเคมีและทางฟิสิกส์ของสารเมือกจากพืชสกุลกะทังซึ่งมีพอลิแซ็กคาไรด์เป็นองค์ประกอบ มีประโยชน์ในการทอผ้าไหมของชาวบ้าน โดยทำการศึกษาทั้งในเส้นไหมและผืนผ้าไหม และทำการทดสอบค่าพีเอช ความหนืด ทดสอบคุณสมบัติของแป้ง น้ำตาล โปรตีน และไขมันที่เป็นองค์ประกอบ การคืนรูปของสาร ทดสอบความลื่น และทดสอบการเคลือบของสาร
ผลการศึกษาพบว่า สารเมือกจากใบหมี่และน้ำต้มข้าวสุก มีค่าความหนืดไม่แตกต่างกันมากนัก คือ 30 และ 32 รอบต่อนาที ซึ่งมีค่าความหนืดปานกลาง เมื่อทดสอบวัดเมื่อสารคืนรูปค่าความหนืดจะมีค่าลดลงจากเดิม ค่าพีเอชเท่ากับ 7 เป็นกลาง การทดสอบแป้งและน้ำตาล มีองค์ประกอบของแป้งและน้ำตาล ส่วนการทดสอบโปรตีนและไขมัน สารเมือกจากใบหมี่ไม่มีโปรตีนและไขมันเป็นองค์ประกอบ น้ำต้มข้าวสุกมีโปรตีนและไขมันเป็นส่วนประกอบ จากการสังเกต สัมผัสเบื้องต้น ของผู้ทดลอง 5 คน พบว่า เส้นไหมและผืนผ้าไหมที่แช่ในสารเมือกจากใบหมี่และน้ำต้มข้าวสุกลื่นไม่แตกต่างกันขณะเปียก และเมื่อตากให้แห้งความลื่น ความเงา การรวมตัวกันของเส้นไหม มากกว่าก่อนการทดลอง โดยเส้นไหมและผืนผ้าไหมที่แช่ในสารเมือกจากใบหมี่มีความอ่อนตัวมากกว่าที่แช่ในน้ำต้มข้าวสุกและน้ำเปล่า การทดสอบความลื่นด้วยวิธี Release Testing ขณะเปียกและขณะแห้ง การทดสอบก่อนการทดลองพบว่า เส้นไหมและผืนผ้าไหมมีค่าความลื่นน้อยกว่าหลังจากแช่ในสารเมือกจากใบหมี่ น้ำต้มข้าวสุกและน้ำเปล่า การทดสอบสารที่เคลือบด้วยเครื่อง Coated Weight การทดสอบก่อนการทดลองพบว่า เส้นไหมและผืนผ้าไหมมีค่าสารที่เคลือบน้อยกว่าหลังจากแช่ในสารเมือกจากใบหมี่ น้ำต้มข้าวสุก และน้ำเปล่าตามลำดับ ผลจากการศึกษาพบว่าสารเมือกจากใบหมี่และน้ำต้มข้าวสุกสามารถใช้ทดแทนกันได้