การศึกษาประสิทธิภาพดินที่ได้จากการผสมมูลไส้เดือนโดยที่ให้ไส้เดือนกินอาหารเสริมต่างชนิดกัน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สุธาสินี เขาคำ, ชนกนันท์ โอมาก

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

จารุวรรณ ชูแทน

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร ภาคใต้ของประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญจากการทำเกษตรกรรมอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และผลไม้เมืองร้อนชนิดอื่นๆ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีพืชที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและขึ้นชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ “พริกขาวชัยบุรี”เป็นพริกพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน 14 จังหวัดภาคใต้ และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ ประชาชนยังสามารถมีรายได้จากการปลูกพริกตลอดทั้งปี และเนื่องจากปัจจัยที่สำคัญในการทำการเกษตรกรรมคือดิน ในบางครั้งการปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำๆแบบไม่หมุนเวียน ประกอบกับการใช้สารเคมีในการเกษตรกรรม อาจทำให้แร่ธาตุในดินลดลงและสภาพดินเสื่อมคุณภาพลง ส่งผลให้พืชขาดแร่ธาตุและเจริญเติบโตได้ไม่ดี ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงต้องการแก้ปัญหาดินขาดแร่ธาตุโดยวิธีการทางธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมีเพื่อปรับปรุงสภาพดิน จากการศึกษาเบื้องต้นทำให้คณะผู้จัดทำทราบว่ามูลของไส้เดือนดินเป็นปุ๋ยชีวภาพและมีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยละลายช้าที่สามารถเพิ่มแร่ธาตุให้กับดินได้ ทางคณะผู้จัดทำจึงเลือกใช้มูลของไส้เดือนดินในการแก้ไขปัญหาดินขาดแร่ธาตุ และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับมูลไส้เดือนคณะผู้จัดทำจึงสนใจที่จะให้อาหารเสริมแก่ไส้เดือน ซึ่งได้แก่ รำข้าว กากกาแฟ กากถั่วเหลือง และเปลือกแตงโม โดยอาหารเสริมเหล่านี้เป็นวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น คณะผู้จัดทำหวังว่าไส้เดือนที่ได้รับอาหารเสริมแตกต่างกันจะทำให้คุณภาพของมูลไส้เดือนที่แตกต่างกัน และเมื่อนำมูลไส้เดือนที่ได้จากอาหารเสริมแตกต่างกันไปปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อปลูกพริกขาวชัยบุรีแล้ว ผลผลิตพริกที่ได้ก็จะแตกต่างกันด้วย