โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องผลทางอัลลีโลพาทีของผักเสี้ยนผี (Cleoma Viscosa Linn.) ต่อการงอกและการเจริญเติบโตของวัชพืชบางชนิดในไร่สับปะรด

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
  • จักรกฤช ยอดทวีบุญ

  • สิทธิกร ฐิตวิริยะ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนเมืองถลาง

รางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์

ม.ปลายชนะการประกวดรางวัลที่ 3ภาคใต้

คำสำคัญ (keywords) ของโครงงาน
  • ผักเสี้ยนผี

  • วัชพืชการกำจัด

ประเภทโครงงานวิทยาศาสตร์

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ผลทางอัลลีโลพาที ของผักเสี้ยนผี (Cleoma Viscosa Linn.) โดยการใช้สารสกัด น้ำ และสารสกัดเอทานอลของ ผักเสี้ยนผีทั้งต้น ที่ความเข้มข้นต่างๆ (0, 25, 50, 75 และ 100 เปอร์เซ็นต์) สังเกตผลต่อการงอก และการเจริญเติบโตของต้อยติ่ง และผักโขม ภายในระยะเวลา 7 วัน จากการทดลองพบว่าสารสกัดน้ำของผักเสี้ยนผีสามารถยับยั้งการงอก และการเจริญเติบโตของต้อยติ่งโดยเปอร์เซ็นต์การงอกของชุดควบคุม เท่ากับ 55.56 ส่วนชุดทดลองที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ คือ 25, 50, 75 และ 100 เปอร์เซ็นต์ มีค่าเท่ากับร้อยละ 55.56, 33.33, 15.56 และ 6.67 ตามลำดับ เห็นได้ชัดว่า อัตราการงอกลดลง และเมื่อพิจารณา การเจริญเติบโต (ความยาว ของราก และลำต้น) พบว่าในชุด ชุดควบคุม มีค่าเท่ากับ 1.18±0.78 และ 0.41±0.22 เซนติเมตร ส่วน ชุดทดลองที่ความเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ มีค่าเท่ากับ 0.14±0.13 และ 0.04±0.03 เซนติเมตร ตามลำดับ ส่วนสารสกัดเอทานอลไม่มีผลต่อการยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโต ในทางตรงกันข้ามสารสกัดน้ำของผักเสี้ยนผีสามารถเร่งอัตราการงอก ของผักโขมได้ โดยเปรียบเทียบจากเปอร์เซ็นต์การงอกของชุดควบคุมที่มีค่าเท่ากับ 64.44 ส่วนชุดทดลองที่ระดับความเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ มีค่าเท่ากับ 68.89 นอกจากนี้ที่ความเข้มข้น 50 เปอร์เซ็น มีค่าเท่ากับ 75.56 ซึ่งมีอัตราการงอกเท่ากัน ทั้งในสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล ซึ่งที่ระดับความเข้มข้นดังกล่าว สามารถเร่งอัตราการงอกได้ดีที่สุดเช่นกัน ในส่วนของการเจริญเติบโต (ความยาว ของราก และลำต้น) ของชุดควบคุม ในสารสกัดเอทานอล เท่ากับ 1.68±0.75 และ 1.37±0.27 เซนติเมตร ตามลำดับ ที่ความเข้มข้น 50 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 2.14±0.40 และ 2.18±0.21 เซนติเมตร ตามลำดับ ส่วนชุดทดลองที่ความเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ ของสารสกัดน้ำ เท่ากับ 0.85±0.24 และ 1.96±1.04 เซนติเมตร ตามลำดับ ดังนั้นจากผลการทดลองครั้งนี้จะเห็นว่าสารสกัดน้ำของผักเสี้ยนผีเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกรใช้แทนสารเคมีกำจัดวัชพืช (ต้อยติ่ง) ในไร่สับปะรด