โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องการพัฒนาสมบัติของปูนปั้นตามภูมิปัญญาล้านนาด้วยยางชันโรง

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ประติมากรรมปูนปั้นเชียงแสนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาวล้านนา ซึ่งในการเตรียมปูนปั้นต้องมีการเติมสารเชื่อมประสาน คือ น้ำหนังสัตว์ที่มีกลิ่นเหม็น และมีขั้นตอนการเตรียมที่ยุ่งยาก โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมบัติของปูนปั้นตามภูมิปัญญาล้านนาด้วยยางชันโรงที่เหลือจากการบีบน้ำผึ้งทดแทนน้ำหนังสัตว์ โดยแบ่งเป็น 3 การทดลอง ดังนี้ การทดลองที่ 1 ศึกษาเปรียบเทียบสมบัติของยางชันโรงและน้ำหนังสัตว์ โดยวิเคราะห์สี กลิ่น ค่า pH การยึดติด การทนการชะล้างของต่อน้ำและตัวทำละลายอินทรีย์ระยะเวลาในการแข็งตัวและอายุการเก็บรักษา พบว่ายางชันโรงมีการยึดติดและระยะเวลาในการแข็งตัวไม่แตกต่างกัน แต่สามารถทนต่อการชะล้างของตัวทำละลายอินทรีย์ได้ดีกว่าน้ำหนังสัตว์และมีอายุการเก็บรักษาได้นานกว่า 5 เท่า การทดลองที่ 2 ศึกษาผลการใช้ยางชันโรงเป็นสารเชื่อมประสานทดแทนน้ำหนังสัตว์ต่อสมบัติของปูนปั้น โดยเตรียมปูนปั้นที่มีการเติมสารละลายยางชันโรงเข้มข้น 3%, 5% และ 7% ทดแทนน้ำหนังสัตว์ นำปูนปั้นที่ได้วิเคราะห์สมบัติต่าง ๆ ได้แก่ สี กลิ่น ระยะเวลาการก่อตัว ค่าร้อยละการดูดซึม ค่าการหดตัวตามแนวแกน ความต้านทานแรงอัด และความต้านทานแรงดึง พบว่าการเติมยางชันโรงทำให้ปูนปั้นมีสมบัติเหมาะสมมากกว่าการเติมน้ำหนังสัตว์และการเติมสารเชื่อมประสานทางการค้า โดยทำให้ค่าร้อยละการดูดซึมและค่าการหดตัวตามแนวแกนลดลง ในขณะที่ความต้านทานแรงอัดและความต้านทานแรงดึงเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการเติมน้ำหนังสัตว์ รวมทั้งมีระยะเวลาการก่อตัวที่นานกว่าการเติมสารเชื่อมประสานทางการค้า โดยการเติมสารละลายยางชันโรงความเข้มข้น 5% มีความเหมาะสมมากที่สุด การทดลองที่ 3 ศึกษาผลการใช้ยางชันโรงเป็นสารเชื่อมประสานทดแทนน้ำหนังสัตว์ต่อคุณภาพชิ้นงานและความพึงพอใจของช่างปั้นปูน พบว่าการใช้ยางชันโรงเป็นสารเชื่อมประสานทำให้ชิ้นงานมีคะแนนคุณภาพสูง ส่งผลให้ช่างปูนมีความพึงพอใจในการใช้งาน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
  • นัทธพงศ์ เชื้อศิริถาวร

  • ยศกร เลิศรัตนคาม

  • สุปรียา นันต๊ะรัตน์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์

รางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์

ม.ปลาย เหรียญเงิน ภาคเหนือตอนบน

คำสำคัญ (keywords) ของโครงงาน
  • ปูนปั้น

  • ยางชันโรง

ประเภทโครงงานวิทยาศาสตร์