โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องการศึกษากรรมวิธีในการทำและหาอัตราส่วนที่เหมาะสมของขนมทองหยิบ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
  • พิศาล จิระวงศ์วิศาล

  • อภิชาติ ชมบุญ

  • ไตรรัตน์ ฟ้าปกาสิต

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนทวีธาภิเศก

รางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์

ม.ปลาย ชนะการประกวดรางวัลที่ 3 ทั่วไป ภาคกลาง

การตีพิมพ์ผลงาน

วารสารบทคัดย่อการศึกษาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี 2536 4(10) p60

ประเภทโครงงานวิทยาศาสตร์

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษากรรมวิธีการทำทองหยิบให้ได้ลักษณะที่ดี 2. เพื่อศึกษาถึงความแตกต่างของไข่แต่ละชนิด 3. เพื่อศึกษาถึงความแตกต่างของไข่เป็ด ไข่ไก่ กับระยะเวลาในการตีให้ขึ้นฟู 4. เพื่อเปรียบเทียบลักษณะของไข่เป็ด ไข่ไก่ และไข่เป็ดผสมไข่ไก่ในการทำทองหยิบ 5. เพื่อศึกษาการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของขนมทองหยิบ 6. เพื่อศึกษาความเข้มของน้ำเชื่อมที่มีต่อทองหยิบ 7. เพื่อศึกษาความแตกต่างของขนมทองหยิบที่ทำได้กับที่ขายตามท้องตลาด ขนมทองหยิบเป็นขนมหวานที่มีมานานจนเป็นรู้จักของคนไทยเราเป็นอย่างดี และเคยรับประทานกันมาแล้ว ขนมทองหยิบมีส่วนประกอบพื้นบ้านของทองหยิบ ได้แก่ ไข่แดง กับน้ำเชื่อม การทำขนมหวานไทยนั้นไม่ได้ง่ายนัก ซึ่งมักจะมีปัญหาต่าง ๆ ในการทำจึงได้มีการทดลองกรรมวิธีการทำทองหยิบให้ได้ลักษณะที่ดี และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของขนมทองหยิบ การทดลองได้แบ่งออกเป็น 3 ชุด ในชุดแรกได้จากส่วนผสมของไข่เป็ด 6 ฟอง (100 กรัม) น้ำมะนาว 1 ช้อนชา (3 กรัม) ชุดที่ 2 ได้จากไข่ไก่ 6 ฟอง (100 กรัม) น้ำมะนาว 1 ช้อนชา (3 กรัม) และส่วนผสมในชุดที่ 3 ได้จากส่วนผสมของไข่เป็ดผสมกับไข่ไก่ 12 ฟอง (100 : 100 กรัม) น้ำมะนาว 1 ช้อนชา (3 กรัม) การทดลอง 3 ชุดนี้จะใช้ทดสอบกับน้ำเชื่อมเข้มข้นในอัตราส่วนน้ำตาล ต่อ น้ำ คือ 5 ถ้วยตวง (1000 กรัม) : 4 ถ้วย (520 กรัม), 4 ถ้วยตวง (800 กรัม) : 4 ถ้วย (520 กรัม), 3 ถ้วยตวง (600 กรัม) : 4 ถ้วย (520 กรัม), 2 ถ้วยตวง (400 กรัม) : 4 ถ้วย (520 กรัม) , 1 ถ้วยตวง (200 กรัม) : 4 ถ้วย (520 กรัม) การทดลองทั้งหมดจะทดสอบกับระยะเวลาในการตีไข่ที่ใช้ทั้งหมดมี 6 กลุ่มคือ 3 นาที 5 นาที 7 นาที 9 นาที 12 นาที และ 15 นาที ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการทดลองในชุดที่ 3 ใช้ส่วนผสมของไข่เป็ด+ไข่ไก่ 12 ฟอง (100 : 100 กรัม) ต่อน้ำเชื่อมเข้มข้นในอัตราส่วน น้ำตาล 3 ถ้วยตวง (600 กรัม) น้ำ 4 ถ้วย (520 กรัม) และใช้เวลาในการตีไข่ 5 นาที ทำให้ขนมทองหยิบที่ได้ออกมามีลักษณะที่ออกมาดีมีกลิ่นหอมของน้ำดอกไม้ มีรสหวานของน้ำตาล ลักษณะเนื้อขนมฟูเต็มถ้วยและอุ้มน้ำเชื่อม เมื่อรับประทานจะรู้สึกนิ่มจีบที่จับอยู่ตัวได้ดี และจับจีบประมาณ 3 หรือ 5 กลีบก็ได้ และเมื่อนำไปทดสอบกับทองหยิบที่ขายตามท้องตลาดผลที่ได้ก็คือ ระยะเวลาในการเก็บได้ 7 วันโดยไม่ได้แช่ตู้เย็น และ 13 วันโดยแช่ตู้เย็น เมื่อนำออกมาจากตู้เย็นเนื้อทองหยิบจะเหมือนเดิมและในจำนวนไข่ 12 ฟอง น้ำตาล 3 ถ้วยตวง น้ำ 4 ถ้วย จะทำได้ 33-34 ชิ้น ซึ่งจะได้ใกล้เคียงกับที่ทำขายตามท้องตลาด