โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องสารอาหารในดอกไม้ที่นำมารับประทาน
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
พวผกา ศรีบุญเรือง
เกศศิริ ปิวะศิริ
เวชยันต์ วงษ์เทพ
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- รางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์
ม.ปลาย ชนะการประกวดรางวัลที่ 3 ทั่วไป ภาคเหนือ
- การตีพิมพ์ผลงาน
วารสารบทคัดย่อการศึกษาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี 2544 12(35) p
- คำสำคัญ (keywords) ของโครงงาน
ดอกไม้
สารอาหาร
- ประเภทโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
โครงงานเรื่องสารอาหารในดอกไม้ที่นำมารับประทาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสารอาหารในดอกไม้ที่นิยมรับประทานในท้องถิ่น โดยทดสอบหาสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในรูปแป้งและน้ำตาล วิตามินซี โปรตีน ไขมัน และเปรียบเทียบว่าดอกไม้ชนิดใดให้สารอาหารประเภทใดมากที่สุด ดอกไม้ที่นำมาใช้ในการทดลองคือ ดอกแค ดอกอีฮึม (มะรุม) ดอกเข็ม ดอกคำฝอย ดอกฟักทอง ดอกเฟื่องฟ้า ดอกกุหลาบ และดอกพวงชมพู การทดลองหาสารแต่ละชนิดในดอกไม้ มีวิธีการดังนี้คือ นำดอกไม้มาชนิดละ 100 กรัม บดแล้วผสมน้ำ 3.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร แยกกากดอกไม้ออกแล้วนำสารละลายของดอกไม้ไปทดสอบหาสารต่าง ๆ ถ้าทดสอบหาแป้งจะใช้สารละลายไอโอดีน ถ้าทดสอบหาน้ำตาล จะใช้สารละลายเบเนดิกต์ ถ้าทดสอบหาวิตามินซีจะใช้ สีน้ำเงินที่เกิดจากการผสมระหว่างสารละลายไอโอดีนกับน้ำแป้งสุกเป็นตัวทดสอบ ถ้าทดสอบหาสารโปรตีน จะใช้สารละลายไปยูเร็ต และเมื่อต้องการทดสอบหาไขมันในดอกไม้ วิธีการจะแตกต่างไปจากการทดสอบสารอาหารชนิดอื่น คือ จะนำกลีบดอกมาถูกับกระดาษ 80 แกรมที่ไม่มีลายเส้น เพื่อทดสอบว่ากระดาษโปร่งแสงหรือไม่ ถ้าโปร่งแสงแสดงว่ามีไขมันอยู่ในดอกไม้ชนิดนั้น ผลการศึกษาพบว่า ดอกไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตในรูปแป้งได้แก่ ดอกเข็ม ในรูปน้ำตาลได้แก่ ดอกกุหลาบ ดอกเฟื่องฟ้า ดอกอีฮึม ดอกแค ดอกคำฝอย ดอกฟักทอง และดอกเข็ม ดอกไม้ที่มีวิตามินซีได้แก่ ดอกคำฝอย ดอกเฟื่องฟ้า ดอกฟักทอง ดอกเข็ม ดอกพวงชมพู ดอกอีฮึม ดอกกุหลาบ ดอกแค และพบว่าในดอกไม้ทุกชนิดไม่มีสารอาหารประเภทไขมันและโปรตีน