คำวิเศษณ์

  • คำที่ทำหน้าที่ขยายในภาษาไทยอีกคำหนึ่งที่จะลืมไปเสียไม่ได้นั่นคือ คำวิเศษณ์ ทำหน้าที่ขยายความในประโยคให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น  การขยายคำก็มีหลายประเภท เช่น  คำนาม  คำสรรพนาม  คำกริยา  หรือแม้แต่คำวิเศษณ์ด้วยกันเองก็ขยายได้

  • คำวิเศษณ์จะเป็นคำที่ใช้บอกลักษณะต่าง ๆ เช่น บอกเวลา บอกรูปพรรณสัณฐาน รูป  รส  สี กลิ่น  บอกสถานที่

1. ลักษณะวิเศษณ์

  • เป็นคำวิเศษณ์ที่บอกลักษณะต่าง ๆ

    • บอกชนิด เช่น ดี  ชั่ว

    • บอกสี  เช่น  ดำ  ขาว  แดง  เทา  เขียว  เหลือง  ชมพู  ฟ้า

    • บอกขนาด  เช่น  เล็ก  ใหญ่  จิ๋ว

    • บอกเสียง  เช่น  ปัง  โครม   เปรี้ยง

    • บอกกลิ่น   เช่น  หอม   เหม็น  ฉุน  สาบ

    • บอกรส  เช่น  ขม  หวาน  เผ็ด  จืด  เค็ม  เปรี้ยว  มัน

    • บอกสัณฐาน เช่น  กลม  แบน  เหลี่ยม

    • บอกความรู้สึก  เช่น  เย็น  ร้อน  หนาว  อึดอัด

  • ตัวอย่าง

    • ดอกไม้ชนิดนี้มีกลิ่นหอม

    • เสียงฟ้าผ่าดังเปรี้ยง

    • ขนมทองหยอดมีรสหวาน

    • วันนี้อากาศร้อน

    • แตงโมลูกใหญ่

    • บอระเพ็ดมีรสขม

2. กาลวิเศษณ์  เป็นคำวิเศษณ์ที่บอกเวลา  เช่น  เช้า สาย  เที่ยง  บ่าย เย็น  ค่ำ   ปัจจุบัน อดีต อนาคต

  • ตัวอย่าง

    • แม่ไม่ชอบนอนตื่นสาย

    • ชาวนากลับบ้านมาตอนค่ำ

    • สุดาไปโรงเรียนแต่เช้า

3. สถานวิเศษณ์   เป็นคำวิเศษณ์ที่บอกสถานที่ บอกทิศทาง  เช่น  เหนือ  ใต้  ไกล  ใกล้  บน  ล่าง

  • ตัวอย่าง

    • เขาอยู่เหนือ

    • แม่อยู่ใกล้

    • ดาวเหนืออยู่ไกล

  • ข้อควรระวัง

    • สถานวิเศษณ์  ถ้ามีคำนาม  คำสรรพนามมาอยู่ข้างหลังคำวิเศษณ์ชนิดนี้   คำวิเศษณ์คำนั้นจะเป็นคำบุพบททันที

    • เช่น เขาอยู่เหนือฉัน  (เหนือ  เป็นคำวิเศษณ์  ,  ฉันเป็นคำสรรพนาม   ดังนั้นคำว่า “เหนือ”  ในประโยคนี้จะเป็นคำบุพบททันที

4. ประมาณวิเศษณ์

  • เป็นคำวิเศษณ์ที่บอกจำนวนที่แสดงจำนวนนับ  หรือบอกปริมาณ  เช่น  หนึ่ง  สอง  สาม ที่หนึ่ง  ที่สอง  ที่สาม   มาก  น้อย   คนละ  บ้าง  เป็นต้น

  • ข้อควรจำ

    • การเขียนประมาณวิเศษณ์ที่เป็นจำนวนนับจะเขียนเป็นตัวเลข  หรือจะเขียนเป็นตัวหนังสือก็ได้

  • ตัวอย่าง

    • สมชายวิ่งแข่งได้ลำดับที่หนึ่ง

    • สมศรีประกวดนางนพมาศได้อันดับสอง

5. นิยมวิเศษณ์

  • เป็นคำวิเศษณ์ที่บอกการชี้เฉพาะ จะมีคำว่า  นี่  นั่น โน่น ทั้งนี้  ทั้งนั้น  อย่างนี้  อย่างนั้น ดังนี้  ดังนั้น เป็นต้น  อยู่ในประโยค

  • ตัวอย่าง

    • สุดานี่ช่างไม่รู้จักตานั่นเอาเสียเลย

    • สมชายต้องทำอย่างนี้อย่าทำอย่างนั้น

6. อนิยมวิเศษณ์

  • เป็นคำวิเศษณ์ที่ตรงกันข้ามกับนิยมวิเศษณ์ คือเป็นคำวิเศษณ์ที่ไม่ชี้เฉพาะ จะมีคำว่า  ไหน อะไร  ทำไม  อยู่ในประโยค  แต่จะต้องไม่ใช้เป็นประโยคคำถาม

  • ตัวอย่าง

    • พ่อดูหนังอะไรช่วงไหนก็ได้

7. ปฤจฉาวิเศษณ์

  • เป็นคำวิเศษณ์ที่ใช้ประกอบเนื้อความเป็นคำถาม  หรือการสงสัย  จะมีคำว่า ใด  ไหม  อะไร ทำไม อย่างไร  เท่าไร ฯลฯ  ในประโยค

  • ตัวอย่าง

    • สิ่งใดอยู่ในกระเป๋าเธอรู้ไหม

    • แดงขี่ม้าตัวไหนก็ได้

8. ประติชญาวิเศษณ์

  • เป็นคำวิเศษณ์ที่ใช้ในการร้องเรียก หรือการขานรับ

  • คำวิเศษณ์ชนิดนี้ใช้สำหรับทำให้ภาษาดูไพเราะสละสลวยขึ้น  จะมีคำว่า  ครับ  ค่ะ  จ๊ะ  จ๋า  ขอรับ  ขอรับกระผมคำราชาศัพท์ที่เป็นคำรับ  เช่น  พระพุทธเจ้าข้า  เป็นต้น

  • ตัวอย่าง

    • ลูกจ๋ามาหาแม่หน่อย

    • คุณครูครับผมขอไปห้องน้ำ

    • ท่านขุนขอรับกระผมขอตามไปด้วย

9. ประติเษธวิเศษณ์

  • เป็นคำวิเศษณ์ที่ใช้ในการบอกปฏิเสธ  การแสดงการไม่ยอมรับ จะมีคำว่า  ไม่   ไม่ใช่  มิใช่ มิได้  มิ   หามิได้  เป็นต้น

  • ตัวอย่าง

    • ปราณีไม่ทำงานก็มิเป็นไร

    • เด็กในบ้านมิได้เป็นลูกหลานคุณตา

10. ประพันธวิเศษณ์

  • เป็นคำวิเศษณ์ที่ใช้ประกอบคำกริยา หรือคำวิเศษณ์ด้วยกันเอง เพื่อให้มีใจความเกี่ยวข้องกันจะมีคำว่า  ที่   ซึ่ง   อัน   อย่างที่  ว่า   คือ  เพื่อว่า  ชนิดที่  เป็นต้น

  • ตัวอย่าง

    • ดำกินจุอย่างที่คนอื่นไม่ทำกัน

ข้อควรจำ

  1. คำวิเศษณ์ที่ไม่เข้าพวก หรือไม่จัดอยู่ในลักษณะของชนิดคำวิเศษณ์ใดเลยในข้อ 2 – 10 ให้จัดเป็นลักษณวิเศษณ์ทั้งสิ้น

  2. คำวิเศษณ์บางคำมีรูปเหมือนคำบุพบท  แต่ให้จำว่าคำวิเศษณ์ต้องใช้ประกอบคำที่อยู่ข้างหน้า  ส่วนจะมีคำตามหลังหรือไม่ก็ได้   ถ้ามีคำตามหลังต้องเป็นบทขยายหรือเป็นกรรม   อาทิ คำว่า    ใกล้ ไกล ใน ใต้   เป็นต้น   ตัวอย่างเช่น   เขาอยู่ใกล้     เธออยู่เหนือ   แม่อยู่ใต้