คำกริยา

  • คำกริยา  คือ คำที่แสดงอาการ หรือแสดงการประทำของประธานในประโยค  คำกริยา  แบ่งออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้

1.สกรรมกริยา 2.อกรรมกริยา 3.วิกตรรถกริยา 4.กริยานุเคราะห์ 5.กริยาสภาวมาลา

1.สกรรมกริยา

  • เป็นคำกริยาที่จะต้องมีกรรมมารับ  ประโยคจึงจะได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์

  • ตัวอย่างเช่น

    • ชูใจวิ่งหนีเสือ (วิ่ง ทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค)

    • มานีตีปูนา (ตี ทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค)

    • มานะไล่อีกา (ไล่ ทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค)

    • แม่ทำอาหาร (ทำ ทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค)

    • พี่ไม่ชอบให้น้องกันคิ้ว (กัน ทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค)

2. อกรรมกริยา

  • เป็นคำกริยาที่มีความหมายได้ใจความสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องมีกรรมมารับ  แต่ถ้าต้องการให้ประโยคมีความชัดเจนหรือเป็นการเน้นความนั้น ก็ให้นำคำ หรือวลี มาขยายประโยคนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นได้

  • ตัวอย่างเช่น

    • นกร้อง   นกร้องเสียงดัง   เครื่องบินตก   น้ำไหล    ไก่ขัน    ฝนตก   ฝนตกหนัก  จราจรเดินที่ถนน เสาไฟฟ้าล้มขวางถนน

3.วิกตรรถกริยา

  • เป็นคำกริยาที่ให้ลำพังกับประธานไม่ได้ ต้องมีอื่นมาขยาย  เช่น  คำนาม  คำสรรพนาม หรือคำวิเศษณ์ จึงได้ใจความสมบูรณ์

  • คำที่เป็นวิกตรรถกริยา  ได้แก่คำว่า   “เป็น  เหมือน  เสมือน  คล้าย คือ ดุจ  ประดุจ  ประหนึ่ง  เปรียบเหมือน  เปรียบเสมือน”  เป็นต้น

  • ตัวอย่างเช่น

    • ความรู้ประดุจอาวุธ    มานะเป็นหมอ     เขาเสมือนตายทั้งเป็น     ฉันคล้ายพ่อ  ผิวขาวเหมือนหยวก

4. กริยานุเคราะห์

  • เป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกริยาชนิดอื่นให้มีความหมาย  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นกริยาช่วยก็ได้

  • การใช้กริยานุเคราะห์ หรือกริยาช่วยนี้ จะต้องคำนึงถึงความหมายเป็นพิเศษ  เนื่องจากคำกริยาชนิดนี้มีความหมายต่างกันไป ดังนี้

    • 4.1 มีความหมายในการสั่ง  จะใช้คำว่า  “ต้อง”

    • 4.2 มีความหมายในการแนะนำ จะใช้คำว่า “ควร”

    • 4.3 มีความหมายแสดงการคาดคะเน จะใช้คำว่า “คง” หรือ “อาจ”

    • 4.4 มีความหมายแสดงเวลาที่เจาะจงกระทำ   ใช้คำว่า “กำลัง”

  • ตัวอย่างเช่น

    • เธอต้องไปโรงเรียน   ป่วยควรไปหาหมอ    มานีควรเรียนหนังสือ  ปิติควรปิดวิทยุ น้ำอาจท่วม     ฝนคงตก    น้ำป่ากำลังท่วมบ้าน   พ่อกำลังเลื่อยไม้

5. กริยาสภาวมาลา

  • เป็นคำกริยาที่มีหน้าที่คล้ายกับคำนาม  สามารถเป็นประธาน  หรือกรรม  ก็ได้

  • ตัวอย่างเช่น

    • กันดีกว่าแก้ (กัน ทำหน้าที่เป็นประธาน ทำหน้าที่เป็นกริยาสภาวมาลา)

    • เล่นดนตรีมีประโยชน์กว่าทำอย่างอื่น ( เล่นดนตรี  เป็นกริยาสภาวมาลา  ทำหน้าที่เป็นประธานของกริยา  “มี”)