คำสรรพนาม

  • คำสรรพนามในภาษาไทย  แบ่งออกเป็น 6 ชนิด  ด้วยกัน

  1. บุรุษสรรพนาม

  2. ประพันธสรรพนาม

  3. วิภาคสรรพนาม

  4. นิยมสรรพนาม

  5. อนิยมสรรพนาม

  6. ปฤจฉาสรรพนาม

  • คำสรรพนามในแต่ละชนิดดังกล่าว มีหลักการใช้แตกต่างกันออกไป  ซึ่งทุกคนต้องเลือกใช้คำสรรพนามให้ถูกกาลเทศะในการพูดหรือเขียน  โดยเฉพาะการพูดและเขียนอย่างเป็นทางการ  หากเลือกใช้คำสรรพนามไม่ถูกต้องจะกลับกลายเป็นคำไม่สุภาพได้เช่นกัน  หรือมีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิมทันที  ครูสรจะขอกล่าวถึงคำสรรพนามในแต่ละชนิดตามลำดับดังนี้

1. บุรุษสรรพนาม

  • เป็นสรรพนามที่ใช้แทนผู้พูด  ซึ่งรวมทั้งตัวผู้พูดเอง   ผู้ที่กำลังพูดด้วย  และผู้ที่ถูกกล่าวถึง   บุรุษสรรพนามจะแบ่งออกเป็น  3 ลักษณะ คือ

    • บุรุษที่ 1  จะใช้แทนตัวผู้พูด     ตัวอย่างเช่น  ฉัน  ดิฉัน  ผม  กระผม  ข้าพเจ้า  กู (ไม่สุภาพ)

    • บุรุษที่ 2  จะใช้แทนผู้ที่กำลังพูดด้วย  ตัวอย่างเช่น  เธอ  ท่าน  มึง (ไม่สุภาพ)

    • บุรุษที่ 3  จะใช้แทนผู้ที่ถูกกล่าวถึง   ตัวอย่างเช่น  เขา  มัน

2. ประพันธสรรพนาม

  • คำที่ใช้แทนคำนามหรือคำสรรพนาม โดยมีคำว่า  ที่  ซึ่ง  อัน  ผู้  ดัง ผู้ที่   ผู้ซึ่ง  เขียนไว้ข้างหน้าคำนามหรือสรรพนามนั้น ๆ - ตัวอย่างเช่น

    • สุนัขที่อยู่ในกรงดุร้าย

    • สมชายเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกข้าราชการดีเด่น

    • เรารักแผ่นดินไทยอันเป็นประเทศของเรา

    • เจ้านายรักลูกน้องซึ่งตั้งใจทำงาน

3. วิภาคสรรพนาม

  • คำที่ใช้แทนคำนาม ในความหมายว่าแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ หรือเป็นสิ่ง ๆ  โดยมีคำว่า “ต่าง”   “บ้าง”  และ “กัน” อยู่ในประโยค

  • ตัวอย่างเช่น

    • ชาวไทยต่างไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร

    • นักกีฬาซ้อมกีฬากันอย่างเอาจริงเอาจัง

    • นักเรียนต่างแยกย้ายไปทำความสะอาดห้องเรียน

4. นิยมสรรพนาม

  • คำสรรพนามลักษณะนี้  จะมีความหมายเฉพาะเจาะจงในสิ่งที่กล่าวถึง เป็นการเน้นเพื่อความชัดเจน จะมีคำเหล่านี้อยู่ในประโยค เช่น  นี่  นั่น  โน่น  นี้  นั้น  ทั้งนี้  ทั้งนั้น  เช่นนี้  เช่นนั้น  อย่างนี้  อย่างนั้น  เป็นต้น

  • ตัวอย่างเช่น

    • เขาอยู่ที่นี่ดีกว่าอยู่ที่นั่น

    • โน่นคือประเทศพม่า

    • แม่ทำอาหารอย่างนี้อร่อยกว่าอย่างนั้น

    • ทั้งนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล

5. อนิยมสรรพนาม

  • คำสรรพนามลักษณะนี้  จะใช้แทนคำนาม จะมีความหมายตรงข้ามกับ นิยมสรรพนาม  มีความหมายว่าไม่ชี้เฉพาะเจาะจง   มักจะมีคำว่า  ใคร  อะไร  ไหน  อื่น  ผู้อื่น

  • ตัวอย่างเช่น

    • พ่อไม่เห็นใคร

    • ไม่มีผู้อื่นนอกจากเขา

    • เขาไม่รู้ว่าบ้านอยู่ไหน

    • ใครจะไปกับฉันก็ได้

    • ที่อื่น ๆ ก็ไปได้

6. ปฤจฉาสรรพนาม

  • คำสรรพนามใช้แทนคำนาม  ใช้เป็นคำถาม  ซึ่งจะมีคำว่า ใคร  อะไร  ที่ไหน  อยู่ในประโยคเสมอ

  • มีคำที่คล้ายกับอนิยมสรรพนาม  แต่ต่างกันตรงที่ ปฤจฉาสรรพนาม ใช้เป็นคำถาม  ส่วนอนิยมสรรพนามใช้แทนคำนามที่ไม่เจาะจง  หรือไม่ชี้เฉพาะ

  • ตัวอย่างเช่น

    • ใครมา

    • ของอะไรตก

    • อะไรเปียก

    • บ้านอยู่ที่ไหน

    • ประเทศอะไร