คำนาม
ชนิดของคำนาม
คำนามที่เราเห็นทั่วไป ไม่ใช่มีเพียงชนิดเดียว แต่แบ่งออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้
1. สามานยนาม
เป็นคำนามทั่วๆ ไปที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ รวมทั้งกริยาอาการต่างๆ ที่แสดงออกมาให้เห็น เช่น การบ้าน การเรือน การคลัง การช่าง การไฟฟ้า รถยนต์ ช้าง ม้า ลิง เด็ก นักเรียน
ตัวอย่าง
นักเรียนทำการบ้านที่โรงเรียน
ช้างชอบกินอ้อย
ดินสอวางอยู่บนโต๊ะ
เด็กดื่มนมแพะ
2. วิสามานยนาม
เป็นคำนามที่ใช้เรียกเฉพาะเจาะจง เป็นชื่อเฉพาะก็ได้
ตัวอย่าง
พระธาตุดอยตุงงดงามมาก
พระอภัยมณีเป็นบทประพันธ์ที่ดี
สุนทรภู่เป็นกวีเอกที่มีชื่อเสียง
สุดาไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ใกล้แม่น้ำ
3.ลักษณนาม
เป็นคำนามที่ใช้แสดงรูปลักษณะของนามนั้น ๆ เช่น ขนาด ปริมาณ
ตัวอย่างเช่น คน 2 คน นก 2 ตัว ช้าง 1 โขลง ทหาร 1 เหล่า เครื่องบิน 1 ลำ พระสงฆ์ 5 รูป เจดีย์ 1 องค์ บ้าน 1 หลัง เป็นต้น
4. สมุหนาม
สมุหนาม เป็นคำนามที่แสดงหมวดหมู่ของสามานยนาม หรือ วิสามานยนาม สมุหนามจะทำหน้าที่เป็นประธาน กรรม หรือส่วนขยายของประโยคของสามานยนาม หรือวิสามานยนามนั้นๆ แต่ถ้ายังมีความหมายแสดงถึงลักษณะนามก็ยังไม่นับว่าเป็นสมุหนาม
ตัวอย่าง
ประโยคที่ 1 ฝูงแกะเดินออกไปกินหญ้า คำว่า “ฝูง” เป็นสมุหนาม ไม่ใช่ลักษณะนาม
ประโยคที่ 2 แกะหนึ่งฝูง เดินออกไปกินหญ้า คำว่า “ฝูง” ไม่เป็นสมุหนาม แต่เป็นลักษณะนาม
5. อาการนาม
คำที่แสดงอาการกระทำ มักประสมด้วยคำว่า “การ” และ “ความ” ในคำกริยา และคำวิเศษณ์
“การ” และ “ความ” จะนำหน้าเฉพาะคำ กริยา และ คำวิเศษณ์ เท่านั้น จึงจะเป็นอาการนาม
ถ้านำหน้าคำอื่น นอกจากคำกริยาและคำวิเศษณ์ จะไม่เป็นอาการนามอย่างแน่นอน แต่จะเป็นสามานยนามแทน
คำที่เป็นอาการนาม จะแสดงออกไปทางจิตใจ หรือมีลักษณะเป็นนามธรรม
คำที่เป็นอาการนาม เช่น การพูด การอ่าน การเขียน การเรียน การสอน การนั่ง การยืน การฟัง การเกิด การดับ การหัวเราะ ความสวย ความงาม ความดี ความชั่ว ความเลว ความเจ็บ ความป่วย ความตาย ความรัก ความเกลียด ความฝัน ความเสื่อม ความเจริญ ความหวัง
ตัวอย่าง
ความรักทำให้คนตาบอด
ความสวยอยู่คู่กับผู้หญิง
การนอนเป็นการพักผ่อนที่ดี
ความรู้คือปัญญา
ความเกิดความตายเป็นเรื่องของสัตว์โลก
การออกเสียงเป็นมติเอกฉันท์