อักษรนำ
อักษรนำในภาษาไทย คือ พยัญชนะ 2 ตัว เมื่อนำมาวางเรียงกันแล้วประสมด้วยสระตัวเดียว แต่เวลาออกเสียงจะต้องออกเสียงพยัญชนะทั้ง 2 พยางค์
อักษรนำสังเกตได้ง่ายๆ คือ พยางค์ตัวแรก หรือเรียกว่าพยัญชนะต้นจะออกเสียงเหมือนมีสระอะประสมอยู่ แต่จะออกเสียง “อะ” เพียงกึ่งเสียง ส่วนพยางค์ตัวที่สอง จะออกเสียงตามสระที่นำมาประสมนั่นเอง
ตัวอย่างคำที่มีอักษรนำ
ตลาด อ่านว่า ตะ-หลาด (ต นำ ล)
ผนวช อ่านว่า ผะ-หนวด (ผ นำ น)
ถวาย อ่านว่า ทะ-หวาย (ถ นำ ว )
ขนม อ่านว่า ขะ-หนม (ข นำ น)
สนิม อ่านว่า สะ-หนิม (ส นำ น)
เฉลย อ่านว่า ฉะ-เหลย (ฉ นำ ล)
การออกเสียงคำที่มีอักษรนำ
อักษรนำยังแบ่งวิธีออกเสียงออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
อ่านออกเสียงเป็นพยางค์เดียว
1.1 เมื่อนำ “ห” นำอักษรต่ำเดี่ยว
- คือ ง ญ น ม ย ร ล เมื่อนำอักษรเหล่านี้มาประสมสระ การออกเสียง จะต้องออกเสียงพยัญชนะพยางค์เดียว และต้องออกเสียงสูงตาม “ห” - ตัวอย่างเช่น หมอ หมี ไหม หงาย หนวด หญ้า หยาม หลาน เป็นต้น
1.2 เมื่อนำ “อ” นำ “ย”
- เมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นคำใดที่มี “อ” นำ “ย” ให้เราออกเสียงเพียง 1 พยางค์ มีด้วยกันทั้งหมด 4 คำ - มีหลักการจำ 4 คำ ง่าย ๆ มาฝากกัน โดยให้จำว่า อย่า อยู่ อย่าง อยาก
อ่านออกเสียงเป็นสองพยางค์
อักษรนำที่ออกเสียงเป็นสองพยางค์ จะสังเกตได้จากพยางค์แรกออกเสียง “อะ” เพียงกึ่งเสียง พยางค์หลังออกเสียงตามสระที่นำมาประสม และออกเสียงเหมือนมีอักษร “ห” นำ ดังนี้
2.1 อักษรสูงนำอักษรต่ำเดี่ยว เช่น
- ขนม อ่านว่า ขะ-หนม (ข = อักษรสูง , น = อักษรต่ำเดี่ยว) - ฉลาม อ่านว่า ฉะ-หลาม (ฉ = อักษรสูง , ล = อักษรต่ำเดี่ยว) - สมุด อ่านว่า สะ-หมุด (ส= อักษรสูง , ม = อักษรต่ำเดี่ยว) - สนุก อ่านว่า สะ-หนุก (ส = อักษรสูง , น = อักษรต่ำเดี่ยว) - ฉวาก อ่านว่า ฉะ-หวาก (ฉ = อักษรสูง , ว = อักษรต่ำเดี่ยว)
2.2 อักษรกลางนำอักษรต่ำเดี่ยว เช่น
- จมูก อ่านว่า จะ-หมูก (จ = อักษรกลาง , ม = อักษรต่ำเดี่ยว) - ตลาด อ่านว่า ตะ-หลาด (ต = อักษรกลาง , ล = อักษรต่ำเดี่ยว) - องุ่น อ่านว่า อะ-หงุ่น (อ = อักษรกลาง , ง = อักษรต่ำเดี่ยว) - กรก อ่านว่า กะ-หรก (ก = อักษรกลาง , ร = อักษรต่ำเดี่ยว)