อักษรควบแท้และควบไม่แท้
อักษรควบหรืออักษรควบกล้ำ คือ พยัญชนะในภาษาไทยที่นำตัวอักษร “ร” “ล” “ว” มาเขียนเรียงติดกันและประสมด้วยสระเดียวกัน
อักษรควบแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ อักษรควบแท้ และ อักษรควบไม่แท้
เทคนิคการจำความต่างของอักษรควบแท้และควบไม่แท้
อักษรควบแท้สังเกตง่ายนิดเดียว คือ การอ่านออกเสียงต้องเปล่งเสียงพยัญชนะทั้งสองพร้อม ๆ กัน ส่วนอักษรควบไม่แท้ ก็เป็นอักษรที่ออกเสียงแต่พยัญชนะตัวหน้า ตัวเดียว หรือออกเสียงเป็นพยัญชนะตัวอื่นไปเลย
อักษรควบแท้
อักษรควบแท้นั้นเมื่อออกเสียงพยัญชนะตัวหน้ากับพยัญชนะตัวหลังพร้อมกัน จะควบกล้ำกันสนิทจนออกเสียงเกือบจะเป็นเสียงเดียวกัน ในภาษาไทยนั้นมีทั้งหมด 11 เสียง 15 รูป
กร เช่น กราบ กรุง กรีดกราย แกร่ง
กล เช่น ไกล กลม เกลียว กลาง กล้า
กว เช่น กว้าง กวาด กวาง เกวียน
คร/ขร เช่น คราง เครื่อง /ขรม
คล/ขล เช่น คลึง คลาน คล้าย คลื่น /ขลัง
คว/ขว เช่น ควาย ความ / ขวาง แขวง ขวาน
ตร เช่น ตรวจ เตรียม ตราบ
ปร เช่น ปรอท ปราบ
ปล เช่น ปลอด ปล้อง
พร เช่น พระ พราง พราย แพร่ง
พล/ผล เช่น พลวง พล่า พล้ำ พลาด
เทคนิคการจำอักษรควบแท้
กร กล กว - ขี่เกวียนกรีดกรายกราบกรุงอย่างกลมเกลียว
คร คล คว - ควายครางคล้ายคลื่น
ตร ปร ปล - ตำรวจเตรียมตรวจปราบปรามอย่างปลอดภัย
พร พล - พระพลาดพล้ำไม่แพร่งพราย
อักษรควบไม่แท้
อักษรควบไม่แท้เป็นอักษรที่ออกเสียงพยัญชนะตัวหน้าเพียงตัวเดียว แต่ไม่ออกเสียงตัวควบกล้ำ ถึงแม้จะมีตัวควบกล้ำก็ตาม หรือออกเสียงเป็นพยัญชนะตัวอื่นไปเลย
อักษร จ ซ ศ ส ควบกล้ำกับ “ร” แต่ไม่ออกเสียง “ร”
จร เช่น จริง
สร เช่น สรง สระ สร้าง เสริม สร้อย สรวล
ศร เช่น ศรี เศร้า ศรัทธา เศรษฐี ปราศร
ซร เช่น ไซร้
เทคนิคการจำอักษรควบ ร แต่ไม่ออกเสียง ร
การควบกล้ำ “ร” แต่ไม่ออกเสียง “ร” ให้จำว่า “เศรษฐีเศร้าจริงลงสระไซร้”
อักษร “ท” ควบกล้ำกับ “ร” แต่ออกเสียงเป็น “ซ”
ให้จำตัวอย่างคำ 2 ชุดนี้
ชุดที่ 1 “ทรวดทรง ทรามทราย ทรุดโทรม แทรกมัทรี ที่ฉะเชิงเทรา”
ชุดที่ 2 “ทรง ทราบ นกอินทรีย์ กินพุทรา”
หรือจะจำว่า
ทรวดทรงทราบทรามทราย ทรุดโทรมหมายนกอินทรี
มัทรีอินทรีย์มี เทริดนนทรีพุทราเทรา
ทรวงไทรทรัพย์แทรกวัด โทมนัสฉะเชิงเทรา
ทอรอเหล่านี้เรา ออกสำเนียงเป็นเสียงซอ