๒.๒ คำอธิบาย

ผู้เขียนเสนอแนะว่า การสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อลดความเสี่ยงจากกระแสโลกาภิวัฒน์นั้นเป็นหนึ่งในแนวคิดที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ วิธีการที่น่าจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันมีดังนี้

  • สร้างมาตรการติดตามปริมาณและโครงสร้างเงินทุนที่ไหลเข้าออก

  • สร้างมาตรการดูดซับหรือเพิ่มสภาพคล่องแก่ตลาดเงินทุนในประเทศ ให้สอดคล้องกับการไหลเข้าออกของเงินทุนจากต่างประเทศ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และรายได้จากการส่งออก

  • ผู้เขียนเสนอแนะว่า แต่ละประเทศควรจัดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งอาจประกอบด้วยเครื่องชี้วัดดังต่อไปนี้

    • อัตราส่วนเฉลี่ยภาระหนี้ต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกในช่วง ๓ ปีข้างหน้า

    • อัตราส่วนเฉลี่ยรายจ่ายสินค้าเข้าที่จำเป็นต่อรายได้เงินตราต่างประเทศ

    • อัตราส่วนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศต่อผลรวมของรายจ่ายการนำเข้า และภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

    • สัดส่วนหนี้ต่างประเทศระยะสั้นต่อหนี้ต่างประเทศ รวมทั้งการกระจายแหล่งและประเภทรายได้เงินตราต่างประเทศ

    • โครงสร้างกำหนดชำระคืนภาระหนี้ต่างประเทศ

    • ขนาดและความถี่ของความผันผวนของค่าเงินบาทต่อเงินสกุลหลัก

นอกจากนี้ ในระดับภูมิภาคควรสร้างความร่วมมือ ทั้งในระดับอาเซียน รวมถึงระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก ดังนี้

  • หาวิธีการผันเงินระหว่างประเทศในกลุ่มด้วยกันเอง เช่น การจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อกู้และปล่อยสินเชื่อแก่บริษัทเอกชนภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

  • ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาจร่วมมือกันจัดตั้ง Reserve pooling เพื่อใช้แทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศ หากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเกินควร ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลทางจิตวิทยาต่อแรงซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และอาจช่วยเพิ่มเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนได้บ้าง

  • ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกร่วมกันจัดตั้งดัชนีอัตราแลกเปลี่ยน (EA currency index) เป็นทางเลือกหนึ่งที่ประเทศสมาชิกเลือกใช้ นอกเหนือจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลต่าง ๆ ในตลาดโลกในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียด้วยกันเอง