๑.๒ คำอธิบาย
ความพอดี คือ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เช่น การกำหนดเป้าหมายปริมาณเงินและสินเชื่อ ต้องไม่มากจนเกินไปจนเป็นผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่น้อยจนเกินไปจนทำให้เศรษฐกิจซบเซา การกำหนดระดับอัตราดอกเบี้ยต้องไม่สูงจนเกินไป จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้กู้เงิน และไม่ต่ำจนเกินไปจนทำให้ผู้ฝากเงินไม่ได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า
ความคล่องตัว คือ นโยบายการเงินต้องสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างคล่องตัว ในช่วงเศรษฐกิจมีปัญหา การใช้จ่ายเกินตัว นโยบายการเงินควรมีลักษณะเข้มงวด ขณะที่เศรษฐกิจซบเซา แนวนโยบายการเงินก็ต้องเปลี่ยนไปในลักษณะผ่อนคลาย
ความระมัดระวัง คือ การเปลี่ยนแนวนโยบายการเงินต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ การเร่งรีบดำเนินนโยบายจนเร็วเกินไปอาจจะก่อให้เกิดผลเสียได้ นอกจากนี้การดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนโยบายการคลัง และนโยบายในด้านหนี้ต่างประเทศด้วย
การป้องกันปัญหาก่อนที่จะรุนแรงขึ้น คือ การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจการเงินต้องพิจารณาถึงปัญหาในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต กรณีที่ปัญหามีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทางการต้องดำเนินมาตรการอย่างเหมาะสมทันการณ์ในลักษณะป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามก่อนจุดวิกฤตมาถึง แม้การดำเนินนโยบายดังกล่าวในขณะนั้นอาจจะดูเสมือนว่ายังไม่มีความจำเป็น แต่หากจะรอให้จุดวิกฤตมาถึงเสียก่อน ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจจะร้ายแรงมาก และมาตรการแก้ไขที่ทำในภายหลังกลับยิ่งจะต้องรุนแรงขึ้นไปกว่ามาตรการที่ดำเนินการแก้ไขและป้องกันตั้งแต่ช่วงแรกที่ปัญหาเกิดขึ้น
ผลกระทบของนโยบาย คือ การพิจารณาผลกระทบของนโยบายต้องพิจารณาจากทั้งระดับส่วนรวมและระดับย่อยควบคู่กันไป ในกรณีที่เป้าหมายส่วนรวมเป็นเป้าหมายหลัก อาจต้องดำเนินนโยบายอย่างเข้มงวดโดยยอมรับว่าจะเกิดปัญหาเฉพาะจุดตามมา และต้องเข้าไปดูแลให้ปัญหาระดับย่อยไม่รุนแรงจนเกินไปด้วยมาตรการเสริมอื่นๆ
การประสานเป้าหมายทางเศรษฐกิจ นอกจากเรื่องความพอดี ความคล่องตัว ความระมัดระวังแล้ว การดำเนินนโยบายการเงินต้องคำนึงถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ ให้ครบถ้วนโดยเฉพาะทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของประเทศ บางโอกาสอาจไม่สามารถสนองเป้าหมายทั้งสองได้ อาจต้องลดเป้าหมายด้านหนึ่งลงบ้าง เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญกว่าในขณะนั้น