๔.๒.๒ คำอธิบาย
(๑) ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงและพุทธเศรษฐศาสตร์
ผู้สังเคราะห์ได้กล่าวสรุปว่า เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเนื้อแท้ก็คือ "พุทธเศรษฐศาสตร์" จากการใช้แนวคิดในเรื่องความพอประมาณของเศรษฐกิจพอเพียงเชื่อมโยงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่อง "ทางสายกลาง"
ผู้เขียนเน้นการใช้ปัญญา เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการผลิตในพุทธเศรษฐศาสตร์ ซึ่งต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เน้นทุนเป็นปัจจัยผลิตหลัก โดยผลผลิตที่สำคัญของปัญญาก็คือ "ความสุข หรือลดความทุกข์ให้น้อยลง" และมีเป้าหมายสุดท้ายก็คือการบรรลุภาวะ "นิพพาน"
ดังนั้นหลักของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเน้นความพอประมาณหรือทางสายกลาง จึงหมายถึงการบริโภคพอประมาณเพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ทรมาน ขณะเดียวกันก็จะต้องไม่โลภมากเกินไปจนเกิดกิเลส
(๒) ความแตกต่างระหว่างเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและพุทธเศรษฐศาสตร์
ผู้สังเคราะห์ได้เปรียบเทียบแนวคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและพุทธเศรษฐศาสตร์ โดยได้กล่าวว่า แนวคิดของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าว "แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในความหมายของการสร้างความพอใจสูงสุด (Utility maximisation) ตามกรอบแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ตะวันตก ทั้งนี้ เพราะถ้าพิจารณาจากมุมมองของพุทธเศรษฐศาสตร์ อัตถประโยชน์ หรือ Utility ในความหมายที่เข้าใจได้ง่ายแบบพุทธ ก็คือ "กิเลส" การเน้นอรรถประโยชน์สูงสุดก็คือการเน้นการมีกิเลสหรือการสนองกิเลสให้มากที่สุด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ผู้สังเคราะห์ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องความมีเหตุผลว่า ไม่สามารถนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่องความมีเหตุผลมาเทียบเคียงได้ โดยกล่าวว่า "ข้อสมมติฐานที่ว่ามนุษย์มีเหตุผลเป็นข้อสมมติฐานที่ไม่ถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ หรือ "อวิชชา" ต่อเมื่อมนุษย์สามารถพัฒนาปัญญาเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ อวิชชาหรือความไม่รู้จะค่อย ๆ ลดลงและเมื่อนั้นมนุษย์ก็จะมีเหตุผลมากขึ้น การตั้งข้อสมมติฐานว่ามนุษย์มีเหตุผล ๑๘ วรรณกรรมปริทัศน์ ที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีความหมายอย่างแคบว่า มนุษย์ย่อมทำทุกอย่างเพื่อมุ่งประโยชน์ของตัวเอง ถึงแม้จะเป็นความจริงโดยส่วนใหญ่แต่ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของโลกได้"