๔.๒.๓ ความเห็นของผู้สรุป
การอธิบายความคล้ายคลึงของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ดีควรได้มีการเปรียบเทียบทั้ง Positive aspect และ Normative aspect อย่างไรก็ตาม การกล่าวสรุปของผู้สังเคราะห์ข้างต้นเป็นการเปรียบเทียบความคล้ายคลึงของพุทธเศรษฐศาสตร์ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใน Normative aspect ของแนวคิดทั้งสองเรื่อง ไม่ได้กล่าวถึง Positive aspect แต่อย่างใด หากจะใช้ Normative aspect เป็นฐาน การจะเปรียบเทียบพุทธเศรษฐศาสตร์ กับ Neo-classical economics ก็ควรจะอยู่บนฐานเดียวกัน แต่ในกรณีนี้ผู้สังเคราะห์กลับเปรียบเทียบในเชิง Positive แทน
แนวคิดเกี่ยวกับ Utility ในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นเพียงการใช้ดัชนีแทนค่าความพอใจของผู้บริโภคเท่านั้น การที่ผู้สังเคราะห์อธิบายความหมายของ Utility ว่าเป็นกิเลสในทางพุทธศาสนา จึงอาจไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องนัก เนื่องจากความพอใจในสิ่งหนึ่งอาจเป็นได้ทั้งความพอใจที่เป็น "ฉันทะ" หรือ "กิเลส" ก็ได้ ขึ้นอยู่กับทั้งประเภท และปริมาณของสิ่งนั้น ๆ การปฏิเสธความคิดเกี่ยวกับเรื่อง Optimisation โดยกล่าวว่า "การเน้นอรรถประโยชน์ให้สูงสุดคือ การเน้นกิเลสให้มากที่สุด" จึงเป็นการสรุปที่คลาดเคลื่อนจากแนวคิดที่แท้จริงในเรื่อง Utility บทบาทของพุทธศาสนาในที่นี้ น่าที่จะเป็นการเสริมความพอใจและ Utility ของแต่ละบุคคลด้วยมิติทางด้านคุณธรรม โดยเปลี่ยน Objective function ของแต่ละคนให้อยู่ในรูป Utility function ที่ได้ผ่านการเสริมสร้างในมิติทางด้านคุณธรรมแล้ว จึงให้แต่ละบุคคลดำเนินการไปตามหลัก Optimisation เช่นเดิม
แนวคิดเกี่ยวกับความมีเหตุผลเป็นแนวคิดที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ทั้งกลุ่มที่เห็นว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับเศรษฐศาสตร์ และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยนำมาใช้ในการอธิบายประกอบการวิเคราะห์เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตาม งานเขียนทุกชิ้นเป็นการตีความองค์ประกอบของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่า เป็นเรื่องเดียวกับ Rationality ในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่สมควรพิจารณาว่า ความมีเหตุมีผลดังกล่าวสามารถเทียบเคียงกับแนวคิดในเรื่อง Rationality ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้สรุปได้สังเกตว่าเหตุผลที่ใช้ประกอบการอธิบายเรื่อง Rationality ในงานเขียนหลายชิ้นเป็นการวิเคราะห์ความหมายเรื่อง Rationality ให้กว้างเกินกว่าคำจำกัดความของ Rationality ที่ใช้กันอย่างทั่วไป กล่าวคือ Rationality ที่ครอบคลุมเพียงเรื่อง Completeness และ Transitivity ของความพอใจเท่านั้น การตีความของผู้เขียนภายใต้ข้อสมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวว่ามนุษย์มีเหตุผล "มีความหมายอย่างแคบว่า มนุษย์ย่อมทำทุกอย่างเพื่อมุ่งประโยชน์ของตัวเอง" จึงไม่ตรงกับความหมายเรื่อง Rationality อย่างแท้จริง[1]