๓.๒ คำอธิบาย

ผลการศึกษาความรู้ของเกษตรกรตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พบว่าส่วนใหญ่รู้จักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงร้อยละ ๖๙.๗ ได้รับทราบจากแหล่งข้อมูลโทรทัศน์ร้อยละ ๖๖.๐ ทั้งนี้ เกษตรกรร้อยละ ๘๔.๐ ไม่เคยได้รับการอบรมเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งไม่เคยได้ไปศึกษาดูงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่คิดเป็นร้อยละ ๘๗.๘

ผลการศึกษาความรู้ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการบริโภคพบว่าเกษตรกรร้อยละ ๙๙ เข้าใจว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของการกินอยู่อย่างประหยัด เหมาะสมกับรายได้

ผลการศึกษาในด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า การผลิตโดยใช้แรงงานคนแทนเครื่องจักร ช่วยการลดมลภาวะในชุมชนและมีผลทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ร้อยละ ๙๐.๔

ผลการศึกษาในเรื่องสุขภาพอนามัยของเกษตรกรพบว่า การบริโภคอาหารที่ปราศจากสารเคมี มีผลทำให้เกษตรกรมีสุขภาพอนามัยดี ร้อยละ ๙๒.๖

ผลการศึกษาในด้านที่เกี่ยวข้องกับรายได้ พบว่าเกษตรกรร้อยละ ๙๑.๕ รู้ว่าการทำเกษตรตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงช่วยลดการใช้สารเคมี ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

ผลการศึกษาในด้านความพึงพอใจในชีวิตของเกษตรกรพบว่าร้อยละ ๙๒.๐ ทราบว่าชุมชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในชีวิตมากขึ้นเมื่อหันมาทำการเกษตรตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ผลการศึกษาในด้านความสามัคคีในชุมชน พบว่าร้อยละ ๙๓.๖ ตระหนักถึงความสามัคคีว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้

ผลการศึกษาภาพรวมของการปฏิบัติกิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พบว่าเกษตรกรยังปฏิบัติตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในระดับต่ำ และพบว่าเกษตรกรร้อยละ ๘๑.๙ เห็นด้วยว่าการประกอบอาชีพทางการเกษตรตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ของครอบครัวได้