๙.๒ คำอธิบาย

ทฤษฎีการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนนั้นอธิบายว่า การดำรงชีวิตนั้นจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) ทรัพย์สิน (๒) กิจกรรมต่างๆ และ (๓) ความสามารถในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ และการดำรงชีวิตจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นสามารถแก้ไขปัญหา หรือฟื้นตัวจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความยากจน ทั้งนี้ จะต้องพัฒนาความสามารถของตนเอง และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนรุ่นต่อไป

ดังนั้น ในภาคเกษตรกรรม เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความยากจน เกษตรกรจำเป็นต้องประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์ในการดำรงชีพเพื่อให้อยู่รอด (Livelihood strategies) ยุทธศาสตร์ที่ผู้เขียนให้ความสำคัญ ได้แก่ ความหลากหลายในการเลือกปฏิบัติกิจกรรมเพื่อการดำรงชีพประเภทต่าง ๆ (Livelihoods diversification) ซึ่งรวมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกโดยตรง (On-farm livelihood diversification) และกิจกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (Off-farm livelihood diversification)

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนได้นำเสนอเกษตรทฤษฎีใหม่ ในฐานะเป็นยุทธศาสตร์ความหลากหลายในการเลือกปฏิบัติกิจกรรม เพื่อการดำรงชีพประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นเกษตรทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเน้นการบริหารพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างพอเพียงและมั่นคง โดยมีความเสี่ยงต่อความผันผวนภายนอกน้อยลง

ท้ายสุด ผู้เขียนวิเคราะห์ผลของเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

  • เกษตรทฤษฎีใหม่ สามารถส่งเสริมความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยพัฒนาฐานการผลิตให้มีความยั่งยืนมากขึ้น เพราะแนวคิดหลักของทฤษฎีเป็นการผสมผสานการเกษตรกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยอาศัยกระบวนการใช้เหตุผลในการประยุกต์ใช้ความรู้ดั้งเดิม และวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นประกอบกับความสามารถของเกษตรกรเอง เพื่อให้การดำเนินชีวิตเป็นไป อย่างพอเพียง (พอประมาณ) โดยเน้นผลิตให้พอเพียงต่อการบริโภคในครัวเรือน

  • นอกจากนี้ การลดการพึ่งพาจากภายนอก และเน้นการพึ่งพาตนเองจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เกษตรกรต่อผลกระทบจากภายนอก อาทิ ความผันผวนของราคาวัตถุดิบในตลาด อันจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความยากจน

  • ที่สำคัญ เกษตรทฤษฎีใหม่ ก่อให้เกิดความมั่นคงในระดับชุมชน ทั้งนี้เพราะการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์และนำผลผลิตในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อทำการจัดจำหน่าย นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนแล้ว ยังก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชน ซึ่งทำให้จำนวนแรงงานอพยพออกจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมลดน้อยลง

  • ท้ายสุดแนวปฏิบัติตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่เน้นสร้างความสัมพันธ์ในระดับชุมชนให้เข้มแข็งขึ้นอันนำไปสู่การเป็น "ชุมชนเข้มแข็ง" ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต่อไป