หลักการใช้คำราชาศัพท์

คำราชาศัพท์ที่ใช้กันอยู่ในบัจจุบันนี้มิใช่ภาษาไทย ส่วนใหญ่เป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งเรานำมาใช้ปะปนกับคำในภาษาไทย บางคำก็คงรูปเดิม บางคำก็เปลี่ยนแปลงบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับลิ้น ของคนไทย การที่เราไม่นำภาษาไทยมาเป็นราชาศัพท์ ก็เพราะภาษาไทยมีลักษณะเป็นคำโดด ๆ ไม่นุ่มนวลและมีคำใช้น้อย เพราะฉะนั้น คำในภาษาต่างประเทศและคำไทย ตามธรรมดาเมื่อจะทำให้เป็นราชาศัพท์ ก็ใช้คำว่า พระบรมราช พระบรม พระราช พระ ทรง ฉลอง เสด็จ ต้น หลวง เติมเข้าข้างหน้าหรือข้างท้ายคำสามัญที่ต้องการจะใช้เป็นราชาศัพท์ เพื่อให้เป็นที่สังเกตทราบได้ว่า มิใช่คำพูดกันอย่างธรรมดาสามัญ แต่เป็นคำที่ใช้กับพระมหากษัตริย์และเจ้านาย ซึ่งมีหลักการใช้ดังนี้

๑. พระบรมราช ใช้นำหน้าคำที่สำคัญในกรณีที่ต้องการเชิดชูพระเกียรติยศและพระราชอำนาจ คำว่า พระบรมราชนี้ ส่วนใหญ่ใช้กับคำโองการ เช่น ทรงมีพระบรมราชโองการ (คำพระบรมราชโองการนี้ ใช้เมื่อทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วเท่านั้น) เป็นต้น

๒. พระบรม ใช้นำหน้าคำที่สำคัญเพื่อเชิดชูพระราชอิสริยยศ และใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์ เช่น พระบรมเดชานุภาพ พระบรมราชานุเคราะห์ พระบรมนามาภิไธย (พระปรมาภิไธย) พระบรมราโชวาท พระบรมราโชบาย พระบรมมหาราชวัง พระบรมโพธิสมภาร และพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นต้น ถ้าเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ตัดคำว่า บรม ออก เช่น พระนามาภิไธย พระราโชวาท พระราโชบาย ฯลฯ

๓. พระราช ใช้นำหน้าคำที่สำคัญรองลงมาจากพระบรม เป็นคำที่ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินี เช่น พระราชหัตถเลขา พระราชโทรเลข พระราชประวัติ พระราชโอรส พระราชนิพนธ์ พระราชดำริ พระราชดำเนิน พระราชดำรัส เป็นต้น

๔. พระ ใช้นำหน้าคำสามัญที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ เพื่อให้แตกต่างกับสามัญชน เป็นต้นว่า เครื่องราชูโภค อุปโภค ตลอดจนเรียกชื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น พระเนตร พระทัตถ์ พระกร พระกรรณ พระพาหา พระนาสิก พระที่นั่ง พระเขนย พระบัญชร พระเต้าทักษิโณทก คำนามที่ไม่มีราชาศัพท์ ใช้ พระ นำหน้าเป็นราชาศัพท์ เช่น พระเก้าอี้ เป็นต้น

๕. ราช ใช้นำหน้าคำสามัญ เพื่อแสดงว่าเป็นของที่เกี่ยวกับพระมหากษ์ตริย์และพระราชวงศ์ ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ROYAL เช่น ราชกิจ ราชการ ราชโอรส ราชสมบัติ ราชภาคิไนย ราชรถ เป็นต้น

๖. ทรง ใช้นำหน้ากิริยาหรือคำนาม เพื่อให้เป็นกิริยาสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ การใช้คำว่า "ทรง" มีหลักเกณฑ์ย่อ ๆ ดังนี้

ก. ใช้ "ทรง" นำหน้าคำกริยาธรรมดา เช่น ทรงนั่ง ทรงยินดี ทรงรับ ทรง ชุบเลี้ยง ทรงสั่งสอน ทรงธรรม ทรงศีล ทรงช้าง ทรงม้า ทรงสกา ทรงสกี ทรงปืน ทรงกีฬา ทรงเบ็ด ทรงฟุตบอล

ข. ใช้ "ทรง" นำหน้าสกรรมกริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว เช่น ทรงพระเมตตา ทรงพระกรุณา ทรงพระอักษร ทรงพระสุบิน ทรงพระพิโรธ ทรงพระดำริ ทรงพระอุตสาหะ ทรงพระสรวล

ค. ใช้ "ทรง" นำหน้าคำกริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้วไม่ได้ คำที่มีลักษณะเป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว คือ เสวย บรรทม กริ้ว เสด็จ ดำรัสหรือตรัส ประชวร ประสูติ ประทับ กันแสง ทอดพระเนตร พระราชทาน สวรรคต คำเหล่านี้จะใช้ ทรง นำหน้าไม่ได้ ยกเว้นบางคำอนุโลมให้ใช้ได้ เช่น ทรงพระราชดำเนิน ทรงทอดพระเนตร ทรงพระประชวร

๗. ต้น ใช้ประกอบท้ายคำนามทั่วไป เพื่อแสดงว่าเป็นของเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เช่น เครื่องต้น ม้าต้น ช้างต้น เรือต้น พระแสงต้น

๘. หลวง ใช้ประกอบท้ายคำนามทั่วไป เพื่อแสดงว่าเป็นของเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เช่น ม้าหลวง เรือหลวง ข้าหลวง เรือนหลวง ลูกหลวง หลานหลวง ของหลวง เป็นต้น อนึ่งคำว่า หลวงนี้ มีใช้กับคำสามัญ แปลว่า ใหญ่ ไม่ถือว่าเป็นคำราชาศัพท์ เช่น เขาหลวง ทะเลหลวง ฯลฯ