ประวัติความเป็นมาของราชาศัพท์

การใช้ราชาศัพท์นี้เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใด เป็นปัญหาที่ตอบได้ยาก เพราะก่อนที่ไทยจะตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น เราไม่สามารถจะหาหลักฐานได้ว่า ในราชสำนักของกษัตริย์ไทยเคยมีการใช้ คำราชาศัพท์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็ไม่ปรากฏว่ามีการใช้คำราชาศัพท์่อยู่เลย ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไทย) แห่งกรุงสุโขทัย กษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ วรรณคดี และพุทธศาสนา ทรงเป็นนักปราชญ์เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์ต่าง ๆ จนสามารถทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งนับเป็นหนังสือเล่มแรกของไทยที่ยังคงใช้ศึกษากันอยู่ในบัจจุบันนี้ เมื่อ "ตรวจสอบดูปรากฎว่า ถ้าหนังสือไตรภูมิพระร่วงแต่งสมัยสุโขทัยจริง ในบานแผนกเดิมนั้นจะเห็นได้ว่ามีคำราชาศัพท์ ถ้ามุนใส่เพื่อใด ใส่เพื่อมีพระอภิธรรมและโปรดพระมารดา ท่าน ธ เป็นหลาน..." [11]

ในศิลาจารึกหลักที่ ๒ (จารึกวัดศรีชุม) ซึ่งจารึกในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่๑ (พระยาลิไทย) ก็ปรากฏว่ามีคำราชาศัพท์ เช่น พระสหาย สมเด็จ ทรง ราชกุมาร บังคม เจ้าราชกุมารภิเนกษกรรม (มหาภิเนษกรมณ์) ปราสาท ราชเสนา เกศ เป็นต้น ส่วนในศิลาจารึกหลักอื่น ๆ ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิ ไทยก็ปรากฏคำราชาศัพท์ อีกหลายคำ เช่น เสวยราชย์ ราชาภิเษก ราชมนเทียร ทศพิธราชธรรม และพระบาท และในจารึกหลักที่ ๗ มีคำราชาศัพท์เพิ่มมากขึ้น เช่น (พระ) ราชทาน พระองค์ พระราชมาตุล ราชกวี พระราชโองการ ตราพระราชบัญญัติ พระเจ้าแผ่นดิน และราชศาสตร์ เป็นต้น [12] แสดงว่าในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยมีการใช้ราชาศัพท์กันแล้ว

สมัยกรุงศรีอยุธยา การใช้ราชาศัพท์เรี่มตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอยู่ทอง) ปรากฏหลักฐานในกฎหมายลักษณวิวาท กล่าวว่า

"ศุภมัสดุ ๑๓๖๙ ศก สบสังวัจฉรเชษฐมาศษุกบักษย ตติยดิถีคุรุวาระ มีพระราชโองการบัญญัติ พระราชอาญาสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีศรีสุธรรมราช บรมจักรพรรดิศวรบพิตรพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชหฤทัยกรุณาปรารถนาจะระงับดับทุกข์ธุระราษฎร จึงตราพระราชกฤษฎีกาโฆษณาแก่ชาวเจ้าเหล่าราชนิกูล ขุนหมื่น พฤมามาตยมนตรีพิริ โยธาสมสังกัดพันมีในพระราชอาณาจักรประชาราษฎรทั้งปวง...."

ถึงแม้ว่าในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จะมีคำราชาศัพท์ใช้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการประกาศ ใช้เป็นทางราชการแต่อย่างใด จนกระทั่งต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งกฎมณเฑียรบาลและประกาศใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๑ จึงถือว่ามีการประกาศใช้ราชาศัพท์เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในกฎมณเฑียรบาล ฉบับนี้ มีพระราชกำหนดถ้อยคำที่จะใช้กราบบังคมทูล กราบทูล คำที่ใช้เรียกสิ่งของเครื่องใช้ และวิธีใช้คำรับ อันอาจถือเป็นตำราราชาศัพท์ฉบับแรกได้ ตอนท้ายของกฎมณเฑียรบาล [13] กล่าวว่า

"อนึ่ง เครื่องอุปโภคทั้งปวงพระเจ้า อยู่หัวให้เรียกว่า มาลาทรง กาษาทรง พระขรรค์ทรง พานหมากเสวย พานน้ำเสวย แป้งทรง เครื่องทรง ช้างที่นั่ง ม้าที่นั่ง เรือที่นั่ง ราชยาน อภิรุม กันภิรุม บังสูรย์ พัชนี เจียมที่นั่ง ฝ่ายเครื่องบริ โภคให้เรียกว่า ข้าวเสวย น้ำเสวย ของเสวย เมี่ยงหมากเสวย อนึ่งจะรับพระบัณฑรให้ว่า พระพุทธเจ้าคะ ถ้าจะทูลให้ ว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูล ถ้าจะเจรจาให้ว่า เจ้านั่งกระหม่อมตรัสสั่ง ตรัสใช้ ......."

ตำราราชาศัพท์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีบานแผนกว่า

"ราชภาษาสำหรับกราบทูลเจ้าชีวิต สมมุติเรียกว่า ราชาศัพท์ เป็นเยี่ยงอย่างมาแต่ก่อน อุตส่าห์ดู สังเกตไว้เป็นคุณอยู่" [14]

ตำราราชาศัพท์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏในหนังสือราชาศัพท์ของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (ม.ร.ว. จิตร สุทัศน์) ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีวรวงศ์ ได้เขียนคำนำ ไว้ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๔๘ ว่า

"..... (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน พระกระแสถึงมูลเหตุที่เกิดมีตำรา (ราชาศัพท์) ขึ้นว่า "....เรื่องราชาศัพท์นี้เข้าใจว่ามีผู้ใหญ่จด ๆ ไว้ เช่น อาลักษณ์บ้าง จางวางมหาดเล็กบ้าง แต่ไม่ได้เคยนำขึ้นกราบบังคมทูลหารือว่าจะควรและจะ จำเป็นหรือไม่แต่สักครั้งเดียว จดลงไว้นั้นอาศัยคำเพ็ดทูลของข้าราชการที่รู้แบบเคยใช้ กันมาบ้าง ที่ได้เล่าเรียนรู้ภาษามคธบ้าง ที่ว่องไวพลิกแพลงถ้อยคำซึ่งเห็นว่าหยาบให้เพราะขึ้นบ้าง ถ้าทูลขึ้นไปโปรดว่าดีก็จดไว้ แต่โดยมากมักจะเป็นรับสั่งว่า คำนี้ให้เรียกเสียเช่นนั้น ก็จดไว้ แล้วเอามาเทียบเคียงกับคำอื่นที่คล้ายคลึง จดเทียบคำลงไว้แล้วไม่ได้เคยกราบทูลและไม่ได้ถวายทอดพระเนตร ตำราที่จดนั้นก็ต่าง ๆ กัน เพราะฉะนั้น บางทีก็ถูก บางทีก็ไม่ถูก บางทีก็ไม่ได้เคยเรียกเลย จนไม่ได้ยินตั้งแต่เกิดมาจนแก่ บางทีก็เรียกเสีย อย่างอื่น บางคำทูลขึ้นไปก็กริ้ว อย่างเช่น ดอกถันวิลานี้คำหนึ่ง แน่ละ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกริ้วนัก เห็นจะสัก ๓-๔ หน ว่าแมวมันเป็นเจ้านายอะไรจึงเรียกนมไม่ได้ ถึงที่เด็ก ๆ กินนม ทำไมจึงเรียกว่ารับพระราชทานนมได้ ทำไมไม่เรียกว่ารับพระราชทานถัน ศัพท์ที่คิดผิดเช่นนี้อย่างเดียวกับช้างเรียกว่าสัตว์โต รับสั่งว่าเป็นพวกใจกระดุกกระดิกคิด เข้าใจว่าเรื่องถันวิลานี้ได้ มีประกาศเหมือนกับสัตว์โต แต่เป็นประกาศเขียนกระดาษปิดเสาท้องพระโรง ท่านนักจดทั้งหลายไม่ใคร่จะได้เข้าถึง มีแต่มหาดเล็กหนุ่ม ๆ จำได้แล้วก็แล้วกัน ยังมีอีกหลายคำที่หายไปเสียแล้วก็มี คำที่เหลืออยู่เช่นนี้เป็นคำที่ผู้ฟังมักเข้าใจว่า เรียกว่านมแมวกริ้ว ต้องเรียกถันวิลาจึงจะถูก การที่เข้าใจกลับเช่นนี้ ไม่รู้ว่าเป็น เพราะเหตุใด" [15]

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) กล่าวถึงราชาศัพท์ไว้ในหนังสือตำราภาษาไทยตอนหนึ่งว่า

"ต่อไปนี้จะว่าราชภาษาราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับราชตระกูล ราชภาษาราชาศัพท์สำหรับผู้ที่จะทำราชการ จะได้ใช้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัว สมมุติเรียกว่า ราชาศัพท์ เป็นแบบแผนเยียงอย่างมีมาแต่ก่อน ให้ข้าราชการทั้งปวงเรียนรู้สังเกตจำคำไว้ ให้แน่นอน อย่าให้พลั้งพลาดในการที่กราบทูลพระกรุณา และเมื่อจะแต่งโคลง ฉันท์ ภาพย์ กลอน จะได้ใช้คำให้สูงสมความ" [16]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวินิจฉัยเค้ามูลที่มาของราชาศัพท์ ไว้ในหนังสือสาส์น สมเด็จ [17] ดังนี้

"ที่เรียกว่า ราชาศัพท์ หมายความว่า ลำพูดของเจ้า หรือ คำพูดแก่เจ้า มิใช่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น แต่ประหลาดอยู่ที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ

ก. เจ้าพูดก็ไม่ใช้ราชาศัพท์สำหรับพระองค์เอง เช่นจะว่า "ฉันเสวย" "ฉันบรรทม" หรือ "พระขนงของฉัน" หรือ "พระเขนยของฉัน" หามิไม่ ย่อมใช้ศัพท์ภาษาไทยที่พูดกันเป็นสามัญว่า "ฉันกิน ฉันนอน คิ้วของฉัน และหมอนของฉัน" แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ตรัสเช่นนั้น

ข. คำราชาศัพท์ที่เป็นภาษาเขมร เช่น "ขนง เขนย" พวกเขมรแม้มาพูดในเมืองไทยเขาก็ใช้สำหรับคนสามัญ ไม่ได้เรียกว่า ขนง เขนย คิ้ว และหมอนของเจ้า

เค้ามูลดูเป็น ๒ ภาษาต่างกัน คือ ภาษาไทยภาษา ๑ ภาษาราชาศัพท์ อันเป็นคำเอามาจากภาษาเขมรกับภาษามคธและสันสกฤตโดยมาก ภาษา ๑ ลักษณะที่ไทยใช้ราชาศัพท์ก็เป็นคำผู้ที่มิใช่เจ้าใช้เรียกกิริยาหรือวัตถุอันเป็นของเจ้า หรือว่าโดยย่อ ราชาศัพท์ดูเป็นคำผู้เป็นบริวารชนใช้สำหรับ ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ หรือถ้าว่าอีกอย่าง ๑ ดูเป็นเอาภาษาของคนจำพวกอื่นที่ใช้สำหรับไทยที่มาเป็น เจ้านายผู้ปกครองของตน มีเค้าจะสังเกตในคำจารึกและหนังสือเก่า เห็นได้ว่า คำราชาศัพท์ ใช้ในกรุงศรีอยุธยาดกกว่าที่อื่น ยิ่งเหนือขึ้นไปยิ่งใช้น้อยลงเป็นลำดับ

หม่อมฉันอยากสันนิษฐานว่า มูลของราชาศัพท์จะเกิดด้วยเมื่อเขมรปกครองเมืองละโว้ ใน อาณาเขตเมืองละไว้ พลเมืองมีหลายชาติ คำพูกเป็นหลายภาษาปะปนกัน ทั้งเขมร ไทย และ ละว้า ไทยพวกเมืองอู่ทองคงพูดภาษาไทย มีคำภาษาอื่นปนมากกว่าภาษาไทยที่พูดทางเมืองเหนือ หรือจะเปรียบให้เห็นใกล้ๆ เช่น ภาษาไทยที่พูดกันทางเมืองอุบลกับที่พูดกันในกรุงเทพ ฯ ในเวลานี้ ก็ทำนองเดียวกัน ครั้นรวมเมืองเหนือกับเมืองใต้อยู่ในปกครองของกรุงศรีอยุธยา เจ้านายที่เคยอยู่เมืองเหนือนับแต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชสามพระยา เป็นต้น ได้ปกครองกรุงศรีอยุธยาและตีเมืองเขมรได้ ได้เขมรพวกที่เคยปกครองเมืองเขมรมาเพิ่มเติม ระเบียบราชาศัพท์จึงเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระพระบรมไตรโลกนาถ เป็นต้น แต่เจ้านายเคยตรัสอยู่แต่ก่อนอย่างไรก็ตรัสอยู่อย่างนั้น ใช้ราชาศัพท์แต่กับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายที่ทรงศักดิ์สูงกว่าหรือเสมอกัน นี่ว่าด้วยกำเนิดของราชาศัพท์ ถ้าว่าต่อไปถึงความประสงค์ที่ใช้ราชาศัพท์ดูก็ชอบกล สังเกตตามคำที่เอาคำภาษา มคธและสันสกฤตมาใช้ เช่นว่า พระเศียร พระโอษฐ์ พระหัตถ์ พระบาท เป็นต้น ดูประสงค์จะแสดงว่าเป็นของผู้สูงศักดิ์กว่าที่มิใช่เจ้าเท่านั้น แต่ที่เอาคำสามัญในภาษาเขมรมาใช้ เช่น พระขนง พระเขนย และพระขนอง เป็นต้น ดูเป็นแต่จะเรียกให้บริวารที่เป็นเขมรเข้าใจ มิใช่เพราะถือว่าภาษาเขมรสูงศักดิ์กว่าภาษาไทย ชวนให้เห็นว่า เมื่อแรกตั้งราชาศัพท์ ภาษาที่ใช้กันในพระนครศรีอยุธยา ยังสำส่อน เลือกเอาศัพท์ที่เข้าใจมากมาใช้ และราชาศัพท์ในครั้งแรกจะไม่มีมากมายนัก ต่อมาภายหลังจึงคิดเพิ่มเติมขึ้น ด้วยเกิดคิดเห็นว่าของเจ้าควรจะผิดกับของไพร่ให้หมด ใช่แต่เท่านั้น ยังคิดใช้ราชาศัพท์ ผิดกันในเจ้าต่างชั้น เช่น คำว่า ตาย ใช้ศัพท์ต่างกันตามยศเป็นหลายอย่าง และคิดคำอย่างราชาศัพท์สำหรับผู้มียศแต่มิใช่เจ้าขึ้นอีก เช่น ขุนนางผู้ใหญ่ตายเรียกว่า อสัญกรรม ขุนนางผู้น้อยตายเรียกว่า อนิจกรรม เป็นต้น ถ้ารวมความก็ประสงค์จะแสดงว่าสูงศักดิ์ผิดกับผู้อื่นเท่านั้น" [18]

"คำราชาศัพท์นั้นชอบกล ที่จะว่าคำสูงคำต่ำเก่าแม้ในชั้นเขมรจะว่าไม่มีก็ว่าไม่ได้ เคยเห็นหนังสือพิมพ์ข้างไทยเขาลงท้วงราชาศัพท์ ว่าคำ "สรงเสวย" ของเขมรก็เป็นคำสามัญ ในเมืองเขมรว่า กิน อาบ นั่นเอง อ่านแล้วก็ต้องเถียงในใจว่า "ไม่ช้าย" "'กิน" คำปกติเขมรว่า "'สี" นอนเขาว่า "ฎก" ไม่ใช่ "บรรทม" "สรง" ก็เข้าใจว่าเป็นคำสูงเหมือนกัน แต่คำ อาบน้ำ อย่างสามัญยังไม่พบ อันคำทั้งป่วงนั้นย่อมสับปลับ เช่นคำ "เสวย" ก็เป็นภาษาไทยแล้ว เขมรเขาเขียน "เสงย" แต่เขมรทุกวันนี้เขาอ่านว่า "โสงย" คิดว่าเป็นไปด้วยเขาอ่านตัว งอ ว่า โง ข้อพระดำริที่ว่าใช้คำต่างภาษาเพราะคนอยู่ปะปนกันนั้นก็ถูกอย่างหนึ่ง เช่น เคยได้เห็นหนังสือสำหรับวัดทางบักษ์ใต้ ซึ่งถ้าพูดตามสมัยนี้ก็จะต้องว่า "โฉนด" นั่นเป็นหนังสือเขมร และภาษาเขมร ดูศุภมาสวันคืนก็ไม่แก่ไปกว่าครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ย่อมเห็นได้อยู่ว่าคนเขมรมีปะปนอยู่ในปักษ์ใต้มาก ที่เป็น หนังสือเขมรก็ทีวัดนั้นจะเกี่ยวข้องกับพวกเขมร อย่างเช่นวัดชนะสงครามของเราเกี่ยวข้องกับมอญ ที่เป็นหนังสือเขมรและคำเขมรก็เพราะจะให้พวกเขมรอ่านเข้าใจดี ข้อที่ว่ามีพวกเขมรปนเปอยู่ทางแขวงปักษ์ใต้มากนั้น ก็มีพยานประกอบอยู่ เช่นชื่ออะไรต่าง ๆ เป็นคำเขมรก็มี มี "สทิงพระ" เป็นต้น เขมรเขาเขียนอย่างนั้น แต่เขาอ่านออกเสียงว่า " สตึงเปริยะ " เราไม่รู้คำนั้นก็ลากเอาเข้าความเป็นว่า "จะทิ้งพระ" แต่ก็เข้าความไปได้อย่างแกน ๆ ที่จริงจะทั้งไปเสียไม่ได้เลย นึกได้อีกคำ หนึ่งก็ "ควนเนียง" เนียงนั้นนางเราดื้อๆ เขมรเขาก็เขียนลากข้าง แต่เขาอ่านออกเสียงไปว่า "เนียง" ยังคำว่าตายที่เป็นตามยศก็มีอีก ที่หลบคำผวนก็มีอีก เช่น "ช้าง ๘ เชือก" ก็แทนที่ "ช้าง ๘ ตัว" ทั้งภาษาก็ย่อมเดินไปเสมอ จะเห็นได้ที่คำ "ข้าพระพุทธเจ้า" แต่ก่อนนี้ไม่มีใครเขาใช้แก่เราเลย ทำให้คิดเห็นได้ว่า คำทั้งปวงนั้นค่อยมีค่อยมาตามสาเหตุที่เกิดขึ้น แล้วจึงเก็บทำขึ้นเป็นตำราราชาศัพท์ แต่ก็เก็บไม่หมด ทั้งคำที่เกิดขึ้นทีหลังก็ไม่ได้อยู่ในตำราราชาศัพท์ และตำราราชาศัพท์ก็ไม่ได้ประสงค์จะทำคำของเจ้าใช้อย่างที่เราเข้าใจกันอยู่ เดี๋ยวนี้ เป็นประสงค์เพียงแต่จะพูดกับเจ้าให้เพราะพริ้งเท่านั้น คำในราชาศัพท์นั้นก็ประหลาดขึ้น " ยำส้าระเต่า " คำไทยก็มี เช่น "'พระเจ้า" เป็นต้น คำเขมรก็มี คำมคธก็มี คำมคธเป็นมีมากกว่าเพื่อน เข้าใจว่าเป็นทีหลังจนเห็นเป็นขบข้นก็มี ญัตติกันว่า คำเจ้าจะต้องเป็นภาษามคธ แม้หาคำในตำราราชาศัพท์ไม่ได้ก็ผูกขึ้น เช่น "หลอดพระวาตะ" ฝ่าพระบาทเข้าพระทัยหรือไม่ว่าเป็นอะไร หมายความว่า ท่อหายใจ แปลเทียบมาจากคำที่เรียกกันตามสามัญว่า "'หลอดลม" แต่เชือนไปเป็นลำไส้ เพราะ "วาตะ " คำเจ้าว่า ตด

อันการใช้คำนั้นประหลาด เช่นฝังศพก็เรียกว่า "บรรจุ" ไม่เห็นว่า คำ "ฝัง" นั้นหยาบคาย เสียหายอะไรไปเลย นี่จะเข้าราชาศัพท์ด้วยหรือไม่" [19]

"ราชาศัพท์นั้นว่าที่จริงก็มีในภาษามนุษย์ทุกประเทศ เช่นคำว่า His Majesty, His Excellency ก็ราชาศัพท์นั่นเอง แต่ของไทยเราเลอะมาก โดยเฉพาะเมื่อมีผู้คิดตำราขึ้น และพูดเพื่อจะยกยอให้วิเศษ ไพเราะยิ่งขึ้นไป จึงเลยเลอะ แต่หม่อมฉันเห็นเป็นใหญ่อยู่ที่ความนิยม ถ้าคนไม่นิยมจะรับคำยกยอนั้นมากขึ้น คำราชาศัพท์ก็คงละลายลบหมดไปเอง เพราะใช้ราชาศัพท์นั้น ผู้พูดต้องท่องจำและเลือกคำพูดลำบากมิใช่น้อย" [20]

เชิงอรรถ