การตักบาตร

ตักบาตร คือเอาข้าวและกับไปใส่บาตรพระ เณร เป็นประจำวัน หรือเฉพาะวันเกิดของตน หรือวัน ๘ ค่ำ ๕ ค่ำ บางทีก็ใส่เฉพาะวันสำคัญ ๆ เช่น วันเข้าพรรษา ออกพรรษา วันมาฆะ วิสาขะ และวันขึ้นปีใหม่เป็นต้น เมื่อจะใส่เป็นธรรมเนียมว่าจะต้องยกของขึ้นจบเสียก่อน แล้วกล่าวคำในใจว่า สุทินนํ วต เม ทานํ อาสวักขยาวหํ โหตุ แปลว่า ข้าพเจ้าถวายทานดีแล้ว ขอจงหมดสิ้น อาสวกิเลสเถิด เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้วก็กรวดน้ำ การกรวด น้ำจะได้นำมาพูดอีกตอนหนึ่งต่างหาก

การตักบาตรนี้มีมูลเหตุมาว่า เมื่อพระพุทธองค์ผนวชใหม่ ๆ ยังไม่ ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เสด็จประทับที่สวนมะม่วงตำบลอนุ ปิยะ แคว้นมคธ ชั่วเวลา ๗ วัน พระองค์เสด็จบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์ อันเป็นราชธานีของพระเจ้าพิมพิสาร ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาตเป็น ครั้งแรก ก็ชวนกันเอาอาหารมาใส่บาตรเป็นอันมากตั้งแต่นั้นมาการตักบาตร ถวายพระสงฆ์จึงถือเป็นธรรมเนียมมาจนบัดนี้ อีกเรื่องหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ ตรัสรู้ใหม่ ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้เกด มีพ่อค้าสองนาย คือนายตปุสสะกับ นายภัลลิกะ นำข้าวสัตตุผงสัตตุก้อนซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไป ถวาย พระองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร นี่ก็เป็นมูลเหตุของการตักบาตรด้วย