พิธีกรวดน้ำ

ทุก ๆ พิธี เจ้าภาพต้องเตรียมน้ำไว้สำหรับกรวดน้ำในเมื่อเสร็จพิธี แล้ว พอพระว่า ยถา ก็เริ่มกรวดน้ำลงกับพื้นดิน หรือภาชนะสำหรับรองน้ำ การเทน้ำขณะกรวดนั้นถือกันนัก ไม่ให้หยดติ๋ง ๆ หรือเทขาดระยะ ต้อง เทให้เป็นสายติดกันไปให้พอดีกับพระว่า ยถา จบน้ำหมดพอดี คำสำหรับว่า ขณะกรวดน้ำนั้น ท่านแต่งเป็นภาษาบาลีไว้ว่าดังนี้ : -

ยุกิญฺจิ กุสลํ กุพฺพิ กตปฺปผลํ กิริยํ มม

กาเยน วาจามนสา ติทเส สุคติ กตํ

เย สตฺตา สญฺญิโน อนฺนฺถา เย จ สตฺตา อสญฺญิโน

กตํ ปุญฺญผลํ มยฺหํ สพฺเพ ภาคี ภวนฺตุ เต

เย ตํ กตํ สุวิฏฺิตํ ทินฺนํ ปุญฺญผลํ มยา

เย จ ตทุป น ชานนฺตุ เทวา นฺตุวา นิเวทยฺ

สพฺเพ โลกมฺหิ เย สตฺตา ชีวมนฺตาหารเถวกฺ

มนุญฺญโภชนํ สพฺเพ ลภนฺตุ มม เจตสานุทิสนํ ฯ

คำแปล

การกระทำที่เป็นกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งสัตว์จะพึงกระทำ ด้วยกาย วาจา และใจ อันเป็นเหตุจะให้ไปเกิดในไตรทศเทวสถานโดยง่าย เราได้ทำแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด ทั้งที่มีสัญญา และไม่มีสัญญา ขอสัตว์ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่เราทำแล้ว สัตว์ทั้งหลาย ที่รู้แล้วว่าเราให้ส่วนบุญ ก็จงรับส่วนบุญนั้น ที่ยังไม่รู้ขอให้เทวดาจงช่วย ไปบอกให้รู้ สัตว์ทั้งหลายในโลกที่เลี้ยงชีวิตด้วยอาหาร ขอจงได้อาหารที่ชอบ ใจด้วยจิตอุทิศให้ของเราเถิด

ถ้าจะไม่ว่าเป็นภาษาบาลี จะตั้งจิตนึกเอาเองก็ได้ จะอุทิศส่วนบุญ ให้ใคร ก็เจาะจงให้ผู้นั้น หรือจะให้ทั่ว ๆ ไปก็ว่าตามรูปความในบท ยงกิญจิ นั้น แต่ที่ใช้กันโดยมากว่าดังนี้ อิทิ เม ญาตีน โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตโย แปลว่า ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติ ทั้งหลายจงมีความสุข เพียงเท่านี้ก็ได้ชื่อว่ากรวดน้ำ

การกรวดน้ำน่าจะมีมาก่อนพุทธกาล เพราะมีในชาดกต่าง ๆ เช่น มหาเวสสันดรชาดก ปรากฏว่าพระเวสสันดรบริจาคทานครั้งใด ก็ทรงหลั่ง น้ำอุทกธาราลงเหนือปฐพีทุกครั้ง จนถึงกับถือกันมาว่าน้ำที่หลั่งลงไป นั้นไปรวมอยู่ที่มวยผมของนางธรณี คือนางแผ่นดิน ขณะเมื่อมารผจญพระ พุทธเจ้า ก็ร้อนถึงนางธรณีต้องขึ้นมาช่วยแล้วบีบน้ำออกจากมวยผมจนน้ำ ท่วมพวกมารพ่ายแพ้ไป ดังภาพปรากฏในเรื่องพระพุทธเจ้าผจญมารในที่ ต่าง ๆ หรือภาพนางธรณีบีบมวยผมข้างสะพานผ่านพิภพลีลานั้น น้ำที่มวย ผมนางธรณีนั้น เขาถือว่าเป็นน้ำที่พระพุทธองค์ทรงหลั่งในการบำเพ็ญทุก ครั้ง เมื่อยังทรงพระชาติก่อน ๆ

อนึ่ง ในสมัยพุทธกาลก็ปรากฏว่า ได้มีการกรวดน้ำ เช่นพระเจ้า พิมพิสารถวายทานแก่พระสงฆ์ ก็ทรงหลั่งน้ำทักขิโณทกอุทิศส่วนบุญให้แก่ ญาติที่ล่วงลับไปดังนี้ การกรวดน้ำจึงถือเป็นประเพณีทำสืบ ๆ กันมา ความ มุ่งหมายของการกรวดน้ำมีอยู่ ๓ ประการ คือ : -

๑. เป็นการแสดงกิริยายกให้ เช่นของที่ใหญ่โตเกินไปไม่สามารถ ที่จะหยิบยกให้ได้ ก็ใช้หลั่งน้ำใส่มือผู้รับ หรือหลั่งลงบนแผ่นดินดังที่ พระเวสสันดรพระราชทานช้างเผือกแก่พราหมณ์ ก็ทรงหลั่งน้ำลงบนมือ พราหมณ์ เป็นต้น

๒. เป็นการตั้งความปรารถนา ขอให้ผลบุญที่ทำไปอำนวยให้ประสบ ผลที่ประสงค์ สมกับที่พระอนุโมทนาว่า ยถา วาริวหา แปลว่าขอให้ความ ปรารถนาจงเต็มบริบูรณ์เหมือนน้ำที่เต็มฝั่ง

๓. เป็นการแผ่กุศลที่ตนทำให้แก่ญาติมิตร และสัตว์ทั้งหลายไม่เลือก หน้า ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ตระหนี่ในบุญกุศล นับเข้าในวิธีทำบุญได้อีกประการ หนึ่ง เรียกว่า ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการแผ่ส่วนบุญ