ตรุษสงกรานต์

ตรุษ แปลว่า ตัดหรือขาด คือตัดปี ขาดปี หรือสิ้นปี หมายถึงวันสิ้น ปีที่ผ่านไปแล้ว ตรุษเป็นพิธีแสดงความยินดีที่ได้มีชีวิตผ่านพ้นมาด้วยความ สวัสดีในรอบปีหนึ่ง ๆ เรียกว่า ส่งปีเก่า พิธีตรุษนี้เป็นพิธีของพวกอินเดีย ฝ่ายใต้ เมื่อพวกทมิฬใต้ครองเมืองลังกา ได้เอาพิธีตรุษตามลัทธิศาสนาของตน มาทำเป็นประเพณีบ้านเมือง จึงเป็นเหตุให้มีพิธีตรุษขึ้นในลังกาทวีป ต่อมา เมื่อชาวลังกาที่นับถือพระพุทธศาสนาได้เป็นใหญ่ขึ้นในเมืองลังกา ได้คิด เปลี่ยนแปลงแก้ไขพิธีตรุษให้มาเป็นพิธีทางคติพระพุทธศาสนา คือเมื่อถึง วันตรุษเขาก็จัดเครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัย เป็นนักขัตฤกษ์ใหญ่ นิมนต์ พระสงฆ์มาสวด ๓ วัน คือวันแรม ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือน ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ เพื่อขอพรให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข คำสวดทั้งหมดเป็นภาษาลังกา ไทย เราได้ตำราตรุษที่ชาวลังกาคิดแก้ไขนั้นมาทำตาม พิธีตรุษจึงมามีขึ้นในเมือง ไทย การที่ไทยได้แบบแผนพิธีตรุษจากลังกาอย่างไรนั้น สมเด็จกรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่าอาจมาได้ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ.-

ประการที่ ๑ อาจได้หนังสือตำรามา ซึ่งเป็นภาษาสิงหลและจารลง ใบลานด้วยอักษรสิงหล แล้วแปลออกเป็นภาษาไทย

ประการที่ ๒ อาจมีพระเถระชาวลังกา ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการพิธีตรุษ เข้ามาในเมืองไทย มาบอกเล่าและสอนให้ทำพิธีตรุษ

ประการที่ ๓ อาจมีพระสงฆ์ไทยได้ไปเห็นชาวลังกาทำพิธีตรุษ และ มีโอกาสศึกษาวิธีตรุษนั้นจนสามารถทำได้ แล้วเอาตำราเข้ามาเมืองไทย ในเหตุ ๓ ประการนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัย ว่า ประการที่ ๓ คือที่พระสงฆ์ไทยไปได้ความรู้และเอาตำราพิธีตรุษมาจาก ลังกานั้น น่าจะถูกยิ่งกว่าประการอื่น เพราะมีเรื่องพงศาวดารประกอบเป็น หลักฐาน ฉะนั้น จึงเป็นอันได้ความว่าการทำบุญในวันตรุษ เป็นการทำของ คนที่นับถือพระพุทธศาสนามาแต่ก่อนประกอบการทำขึ้น

เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ก็ปรากฏว่ามีพิธีนี้ขึ้นแล้ว ดังปรากฏ ตามที่นางนพมาศพระสนมเอกของพระร่วง กรุงสุโขทัยกล่าวไว้เกี่ยวกับพิธี นี้ว่า "ครั้นเดือน ๔ ถึงการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ โลกสมมติเรียกว่า ตรุษ ฝ่ายพุทธศาสน์ ชาวพนักงานก็ตั้งบาตรน้ำ บาตรทราย จับด้าย มงคลสูตรใส่ลุ้งไว้ในโรงราชพิธีทั้งสี่ทิศพระนคร และในพระราชนิเวศน์ จึง อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐานอาราธนาพระมหาเถรานุเถระ ผลัด เปลี่ยนกันมาจำเริญพระปริตร ในโรงราชพิธีทุกตำบล สิ้นทิวาราตรี สามวาระ และด้ายมงคลสูตรนั้น ชาวพนักงานแจกในพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน เมื่อวันพระมหาเถระเจ้าจำเริญพระยาฎานาฏิยสูตรในราตรี เหล่า ทหารยิงปืนใหญ่รอบพระนคร ฝ่ายพราหมณาจารย์ประชุมกันผูกพรต กระทำ การพระราชพิธีในเทวสถานหลวง ตั้งเครื่องพลีกรรมสังเวยบวงสรวง พระ- เทวรูปทั้งมวล มีพระปรเมศวรเป็นต้น แล้วก็เปลี่ยนเวรกันอ่านอาคมในทิวา ราตรีทั้งสาม........ ครั้นเพลาค่ำสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จยังหน้าพระลาน โรงราชพิธีสว่างไปด้วยโคมประทีป ชวาลา ทรงสถิตในมณฑปตัดพิดานผ้าขาว เป็นพระที่นั่งแล้วก็สมาทานศีล ๕ ทรงสดับฟังพระมหาเถระเจ้าจำเริญพระ- ปริตรและพระอาฏานาฏิยสูตรโดยสัจเคารพ..... ครั้นวันรุ่งขึ้นเป็นวัน สิ้นปี ก็ทรงปรนนิบัติพระมหาเถระเจ้าด้วยของคาว หวาน อันประณีต ถวาย ไตรจีวรบริขารสมณะสิ้นทุกพระองค์ แล้วก็ตั้งกระบวนแห่เป็นปัญจพยุหะ... ... อาราธนาพระมหาเถระเจ้าทั้งหลาย ขึ้นสถิตยานราชรถและรถประเทียบ เรียบเรียงกระบวนแห่นั้นเป็นห้ากระบวน ประน้ำพุทธมนต์และโรยทรายรอบ พระราชนิเวศน์นั้นขบวนหนึ่ง รอบพระนครตามท้องสถลมารคนั้นสี่ขบวน ดูเป็นสง่างามยิ่งนัก เหล่านักเลงก็เล่นมหรสพเอิกเกริกสมโภชบ้านเมืองเป็น การนักขัตฤกษ์ บรรดานิกรประชาราษฎร์ชายหญิง ก็แต่งตัวนุ่งห่มประดับ กายโอ่โถง พากันมาเที่ยวดูแห่ ดูงานนมัสการพระในวันสิ้นปี และขึ้นปีใหม่ และหมู่พระสนมกำนัลนางในทั้งหลาย ก็ประดับกายาด้วยเครื่องสรรพาภรณ์ ตามเสด็จพระร่วงเจ้าออกทางท้องฉนวนวัดหน้าพระธาตุ ถวายข้าวบิณฑ์บูชา พระรัตนตรัย แล้วประโคมดุริยางค์คนตรีขับร้อง ฟ้อนรำสมโภชพระพุทธ- ปฏิมากรโดยนิยมดังนี้"

พูดถึงพิธีต่าง ๆ ที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาแล้ว พิธีตรุษอยู่ข้างจะ เรื่องมากกว่าทุกพิธี ตามที่ปรากฏมาแต่เก่าก่อน เช่นนิมนต์พระสงฆ์มาสวด อาฏานาฏิยสูตรตลอดคืนยังรุ่งในบรมมหาราชวัง และผู้ที่เข้าอยู่ในพิธีนี้ต้อง สวมมงคลพิสมรและถือกระบองเพชร การที่ให้มีสวดอาฏานาฏิยสูตรนั้น ประ สงค์จะให้เป็นการระงับภัยอันตรายแก่มนุษย์ทั่วพระราชอาณาเขต ตามพระ บรมพุทธานุญาต การให้สวมมงคลพิสมรและถือกระบองเพชรนั้น เพื่อให้ ทราบว่าผู้นั้นเข้าอยู่ในพิธี หรือให้แลเห็นว่าสิ่งอันเป็นมงคล ซึ่งเกิดขึ้นด้วย คุณพระปริตที่พระสงฆ์สวดนั้น ตั้งอยู่ในตัวผู้นั้นแล้ว แต่กลับมีผู้เข้าใจกันไป ว่าการที่พระสงฆ์สวดอาฏานาฏิยสูตร หรือภาณยักษ์ภาณพระนั้น เป็นการขู่ ตวาดให้ผีตกใจกลัว แล้วยิงปืนกระหน่ำสำหรับให้ผีวิ่ง จนถึงคนแก่คนเฒ่า ต้องหาขมิ้นกับปูนตั้งไว้ตามข้างที่หลับที่นอนในเรือน สำหรับให้ผีญาติพี่น้อง และผีเหย้าผีเรือนที่ตกใจปืน เที่ยววิ่งจนปากแตกสีข้างหักจะได้หยิบทา แล้ว ทำต้นไม้ผูกของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ มีกระบอกเล็ก ๆ กรอกน้ำแขวนกับกิ่งไม้ ผูกไว้ที่บันไดเรือน เรียกว่า "ข้าวผอกกระบอกน้ำ" สำหรับผีที่วิ่งไปมาเหน็ด เหนื่อยเข้าจะได้หยิบกิน ทั้งห้ามไม่ให้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงทางล่อง ด้วย เข้าใจว่าจะไปเปียกเปื้อนผีที่วิ่งชุลมุนอยู่ตามใต้ถุน บางทีถึงกับร้องไห้สงสาร ผีที่ตัวรักใคร่ก็มี ในเรื่องสวมมงคลก็กลับถือกันไปว่า ถ้าไม่สวมผีจะวิ่งมาโดน หกล้มหกลุก หรือมาหลอกหลอนเอา จะทำให้ป่วยไข้ไปต่าง ๆ ถือกันมา จนถึงอย่างนี้ จึงว่าพิธีตรุษเรื่องมากกว่าทุกพิธี แต่เดี๋ยวนี้เรื่องมากอย่างนั้น ไม่มีแล้ว จะมากอยู่ก็แต่การทำบุญ การสนุกสนานรื่นเริง การพักผ่อน หย่อนใจ ซึ่งยังนิยมกันอยู่จนบัดนี้

สงกรานต์ แปลว่า การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือ พระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ สงกรานต์เป็นพิธีแสดงความยินดีที่ได้มี ชีวิตย่างขึ้นปีใหม่ เรียกว่ารับปีใหม่ ซึ่งอยู่ในวันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือวันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่าวันมหาสง กรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก เรื่องของสงกรานต์ นี้มีปรากฏในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนว่า

เศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้กับบ้านนักเลงสุรา นักเลงสุรา มีบุตรสองคน มีผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุรานั้นเข้าไปกล่าวคำหยาบ ช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึงถามว่า เหตุใดจึงมาหมิ่นประมาทต่อเราผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุราจึงตอบว่า ถึงท่านมีสมบัติก็ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติก็จะสูญ เปล่า เรามีบุตร เห็นว่าประเสริฐกว่า ท่านเศรษฐีมีความสะอาดจึงบวงสรวง พระอาทิตย์พระจันทร์ตั้งอธิษฐานขอบุตร ถึงสามปีก็มิได้มีบุตร อยู่มาถึงวัน นักขัตฤกษ์สงกรานต์ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารไป ยังต้นไทรอันเป็นที่อยู่แห่งฝูงนกทั้งปวงริมฝั่งน้ำ จึงเอาข้าวสารล้างน้ำเจ็ด ครั้งแล้วหุงขึ้นบูชาพระไทร ประโคมพิณพาทย์ตั้งอธิษฐานขอบุตร พระไทร มีความกรุณาจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลง มาปฏิสนธิในครรภ์กรรยาเศรษฐี เมื่อคลอดแล้วจึงให้ชื่อธรรมบาลกุมาร ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น กุมารเจริญขึ้นก็รู้ภาษานก แล้วเรียนไตรเพทจบเมื่ออายุเจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่ มนุษย์ทั้งปวง

ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์ หนึ่งว่า เป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบจึงลงมา ถามปัญหาธรรมบาลกุมารสามข้อ สัญญาไว้ว่า ถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้ จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่า ข้อ 1. เช้าราศีอยู่แห่งใด ข้อ 2. เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ข้อ 3. ค่ำราศีอยู่แห่งใด ธรรม- บาลขอผัดเจ็ดวัน

ครั้นล่วงไปได้หกวันธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่เห็น จึงนึกว่าพรุ่งนี้จะ ตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหมไม่ต้องการ จำจะหนีไปซุกซ่อนตายเสียดีกว่า จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรีสองตัวผัวเมียทำ รังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้ จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่าจะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิล พรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไร สามีจึงบอกว่า ปัญหาว่า เช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่ แห่งใด นางนกถามว่าจะแก้อย่างไร

สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลา เที่ยงราศีอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศี อยู่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า

ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้น ก็กลับไปปราสาท ครั้นรุ่งขึ้นท้าวกบิล มหาพรหมมาถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ ได้ยินมา ท้าวกบิลมหา พรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้ บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะตั้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะ ทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้ว ก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้ แล้วแห่ ทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำ คันธธุลีเขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ พระเวสสุกรรมก็นิมิต โรงแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ ชื่อ ภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวง ก็นำเอาเถาฉมูนาคลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ พระองค์ ครั้นถึงครบกำหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์ นางเทพธิดาเจ็ดองค์จึงผลัดเวรกันมาเชิญ พระเศียร ท้าว กบิลมหาพรหม ออก แห่ทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ที่จารึกในวัดพระเชตุพน มีใจความดังกล่าวมานี้

ลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวมหาพรหมนั้น เราสมมติเรียกว่าตัวสงกรานต์ ซึ่งมีชื่อต่าง ๆ กัน การที่ตัวสงกรานต์มีชื่อต่าง ๆ กันนั้นเขามีเกณฑ์ดังนี้ ถ้าปีใดวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ตรงกับวันอาทิตย์ ตัวสงกรานต์ ชื่อทุงษ ตรงกับวันจันทร์ชื่อ โคราค ตรงกับวันอังคารชื่อ รากษส ตรงกับ วันพุธชื่อ มัณฑา ตรงกับวันพฤหัสบดีชื่อ กิริณี ตรงกับวันศุกร์ชื่อ กิมิทา ตรงกับวันเสาร์ชื่อ มโหทร ถ้าวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันอะไร ก็เป็นหน้า ที่ของนางที่มีชื่อประจำวันนั้นจะต้องไปทำพิธี เช่นปี ๒๔๙๒ วันที่ ๑๓ เมษายนตรงกับวันพุธก็เป็นหน้าที่ของนางมัณฑาเทวี ทัดดอกจำปา เครื่อง ประดับไพทูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธขวาเข็ม ซ้ายไม้เท้า มีลาเป็นพาหนะ

คนแต่ก่อนถือกันนักเรื่องตัวสงกรานต์ เช่นเมื่อจะถึงวันสงกรานต์ก็ ถามกันว่า ปีนี้สงกรานต์กินอะไร ถืออะไร หรือมีอาการอย่างไร ผู้ตอบก็ บอกไปตามที่ปรากฏในปฏิทิน ถ้าปีใดตัวสงกรานต์กินถั่วกินงา ก็ว่าปีนั้นข้าว ปลาจะบริบูรณ์ ถ้าปีใดกินเลือดก็พากันสั่นหัวดิก ๆ ไป ปากก็บ่นว่า ปีนี้ จะตีกันหัวร้างข้างแตก ถ้าปีใดถือปืน ก็ว่าปีนั้นฟ้าจะคะนอง ถ้าหลับตา คน มักจะเป็นตาแดงมาก ถือกันดังนี้เป็นมั่นเหมาะแทบทุกคน สุดแต่ ถ้าถึง สงกรานต์แล้วเป็นโจษกันไปได้ตลอดทั้ง ๓ วัน เรื่องเกี่ยวกับสงกรานต์ที่ว่า มานี้คนเก่า ๆ รู้กันดี แต่ก็รู้อย่างเล่ากันต่อ ๆ มา และถือกันต่อ ๆ มา ที่ นำมาพูดด้วยก็เพื่อให้รู้กันต่อ ๆ ไป ตามคติของคนเก่า ๆ ที่เล่ากันมา

ตรุษสงกรานต์ เราถือเป็นนักขัตฤกษ์ที่ขึ้นหน้าขึ้นตามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนจะถึงวันตรุษสงกรานต์ก็จ้าละหวั่นกันแต่เรื่องเตรียมหาเครื่อง แต่งตัวไว้แต่งประกวดประชันกัน ใครมีเครื่องประดับอะไรก็เอามาแต่งกัน จนหมดสิ้นในวันนั้น

ล้วนแต่งตัวเต็มงามทรามสวาท
ใส่สีฉาดฟุ้งเฟื่องด้วยเครื่องหอม
สงกรานต์เทศกาลที่ไม่มีมอม
ประดับพร้อมแหวนเพชรเม็ดมุกดา
มีเท่าไรใส่เท่านั้นฉันผู้หญิง
ดูเพริศพริ้งเพราเอกเหมือนเมขลา

นอกจากนี้ ก็วุ่นวายกันในเรื่องของทำบุญ เสร็จจากการทำบุญก็แจก ของให้บ้านโน้นบ้าง บ้านนี้บ้าง บางพวกก็ประชุมรื่นเริงร้องรำกันไปตาม ถนัด เป็นอันว่า

ฤดูเดือนห้าหน้าคิมหันต์
พวกมนุษย์สุดสุขสนุกครัน
ทั้งผู้ดีเชิญใจใส่อังคาส
อภิวาทพุทธรูปในวิหาร
ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์
ดูสะคราญเพริศพริ้งทั้งหญิงชาย

เรื่องตรุษสงกรานต์ตามที่กล่าวมานี้ มุ่งกล่าวตามที่มีมาในตำนานเท่า ที่พอจะรู้ได้ ส่วนการสนุกสนานกันนั้นย่อมแล้วแต่ความนิยมของแต่ละ ท้องถิ่น