พระมโหสถ
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารนั้น บรรดาภิกษุทั้งหลาย ได้ประชุมสนทนากันถึงพระปัญญาบารมีของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ได้สดับคำสรรเสริญนั้นแล้ว ตรัสว่ามิใช่ว่าพระองค์จะมีปัญญาปรากฏเฉพาะในเวลานั้น แม้ในปางก่อนพระองค์ก็มีปัญญาแก่กล้าเช่นกัน แล้วจึงทรงเล่าเรื่องมโหสถ ดังนี้
ในอดีตกาล เมื่อครั้งพระเจ้าวิเทหราชเป็นกษัตริย์ครองกรุงมิถิลานั้น พระองค์มีนักปราชญ์ประจำราชสำนักอยู่ ๔ คนชื่อเสนกะ ปุกกุสะ กามินท์ และเทวินท์ ต่อมาในคืนวันหนึ่งพระองค์ทรงสุบินนิมิตเห็นกองเพลิง ๔ กอง แล้วเกิดมีกองเพลิงอีกกองหนึ่งลุกขึ้นในระหว่างกองเพลิงทั้ง ๔ และลุกท่วมกองเพลิงทั้ง ๔ เสียสิ้น แสงจากกองเพลิงนั้นสว่างไปทั่วจักรวาล และมีฝูงชนเดินผ่านไปมาในกองเพลิงนั้นโดยไม่รู้สึกร้อน พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงเล่าความฝันให้นักปราชญ์ทั้ง ๔ นั้นฟัง นักปราชญ์ทั้ง ๔ ก็ทำนายว่าจะมีปราชญ์คนใหม่ที่มีปัญญาเหนือใครมาเกิด ด้วยคำทำนายนี้เองทำให้พระเจ้าวิเทหราชส่งคนออกสืบหาปราชญ์คนที่ ๕ อยู่เนือง ๆ ในเวลาที่พระเจ้าวิเทหราชทรงสุบินนั้นก็เป็นเวลาที่พระโพธิสัตว์มาเข้าครรภ์นางสุมนเทวีภรรยาของเศรษฐีสิริวัฒกะเมื่อครรภ์ครบกำหนดนางสุมนเทวีก็คลอดบุตรชาย ในมือของกุมารนั้นมีแท่งทิพยโอสถถือติดมาด้วย กุมารนั้นได้บอกแก่นางสุมนเทวีว่าแท่งทิพยโอสถนั้น ใช้รักษาคนเจ็บป่วยด้วยโรคทุกชนิด เศรษฐีสิริวัฒกะซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะถึง ๖ ปีมาแล้ว ได้ใช้ยาแท่งนั้นรักษาหายเป็นคนแรก ความศักดิ์สิทธิ์ของแท่งยานั้นก็แพร่ไปไกลมีผู้คนมารับการรักษากันมากมาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อบุตรว่ามโหสถ
เมื่อมโหสถอายุได้ ๗ ขวบ ได้รวบรวมเงินจากเพื่อนเด็กๆแล้วสร้างศาลาที่พักขึ้น แลดูคล้ายกับเทวสภา มโหสถใช้สถานที่นั้นเป็นที่วินิจฉัยคดีปัญหาให้แก่ผู้ที่มาถามเป็นประจำ วันหนึ่งอำมาตย์ผู้หนึ่งในจำนวนที่ออกสืบหานักปราชญ์คนที่ ๕ ตามพระประสงค์ของพระเจ้าวิเทหราชได้มาถึงศาลาแห่งนั้น รู้เรื่องของมโหสถก็เชื่อแน่ว่าได้พบนักปราชญ์คนที่ ๕ แล้ว จึงกราบทูลพระเจ้าวิเทหราชให้ทรงทราบ แต่เสนกะกลับทูลคัดค้านความเห็นอันนั้นทำให้พระเจ้าวิเทหราชทรงลังเล สั่งให้อำมาตย์นั้นสังเกตพฤติกรรมของมโหสถต่อไป ครั้นเมื่อสังเกตก็ยังได้เห็นปัญญาอันชาญฉลาดของมโหสถชัดแจ้ง พระเจ้าวิเทหราชจึงไม่ฟังคำทัดทานของเสนกะ รับสั่งให้มโหสถเข้าเฝ้า มโหสถได้แสดงปัญญาให้เป็นที่ประจักษ์แก่พระเจ้าวิเทหราช ๆ ทรงพอพระทัยเป็นอย่างมากตรัสขอมโหสถจากเศรษฐีมาเป็นพระโอรสบุญธรรม รับราชการอยู่ใกล้ชิดพระองค์ มอบหน้าที่ให้มโหสถวินิจฉัยคดีและปัญหาต่างๆ ซึ่งมโหสถก็แก้ได้ลุล่วงด้วยปัญญาอันฉลาดเสมอไป
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชได้เสด็จประพาสอุทยานผ่านต้นมะเดื่อได้เห็นหญิงสาวติดอยู่บนต้นมะเดื่อ จึงให้อำมาตย์ไปสอบถามได้ความว่านางถูกสามีทอดทิ้งไว้ จึงโปรดให้ช่วยและรับไปเป็นมเหสี ตั้งพระนามให้ว่าอุทุมพร ต่อมานางอุทุมพรได้เห็นสามีเก่าที่ทอดทิ้งนางไปนั้นถูกเกณฑ์มาทำงานในราชสำนัก ก็ทรงหัวเราะขบขันที่สามีเก่านั้นเป็นกาฬกิณี ไม่อาจรับนางซึ่งเป็นสิริ ได้ต้องหนีไป พระเจ้าวิเทหราชไม่เข้าพระทัยและไม่เชื่อในคำทูลตอบของนาง แต่มโหสถได้ยืนยันความจริงนั้น พระเจ้าวิเทหราชจึงทรงเชื่อ ทำให้นางอุทุมพรสำนึกในบุญคุณของมโหสถและทูลขอมโหสถเป็นน้องชาย พระเจ้าวิเทหราชทรงอนุญาต
ต่อมาเมื่อมโหสถอายุได้ ๑๖ ปี นางอุทุมพรก็แนะให้มีชายา มโหสถจึงปลอมตัวเป็นช่างชุนผ้าออกไปแสวงหาชายา จนได้พบนางอมรธิดาเศรษฐีที่ตกยาก และได้พิสูจน์จนเห็นความฉลาดของนางแล้วจึงได้แต่งงานกัน ในระหว่างที่รับราชการอยู่ในราชสำนักพระเจ้าวิเทหราชนี้ มโหสถได้รับการกลั่นแกล้งจากอำมาตย์ทั้ง ๔ ด้วยความริษยาอยู่เสมอ แต่ทุกครั้งมโหสถสามารถใช้ปัญญาอันฉลาดเอาตัวรอดได้จนในที่สุดอำมาตย์ทั้ง ๔ แพ้ภัยตนเองหมดอำนาจลง ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงไว้วางพระทัยมโหสถแต่ผู้เดียว มโหสถจึงได้จัดบำรุงกำลังป้องกันเมืองให้เข้มแข็ง เหตุการณ์ภายนอกก็จัดส่งจารบุรุษไปประจำแว่นแคว้นต่างๆ ทั้ง ๑๐๑ เมือง เวลาล่วงมาไม่นานนัก พระเจ้าจุลนี-พรหมทัตผู้ครองอุตตรบัญจาลนครได้ยกกองทัพไปตีหัวเมืองทั้งหลาย ตามคำแนะนำของเกวัฏพราหมณ์ที่ปรึกษาจนได้เมืองทั้งหลายไว้ในอำนาจสิ้น เหลืออยู่แต่กรุงมิถิลาที่เกวัฏพราหมณ์ทูลห้ามไว้ เพราะรู้กิติศัพท์ความเก่งกล้าของมโหสถ และเกวัฏพราหมณ์ได้ทูลแนะอุบายให้จัดพิธีดื่มชัยบานขึ้น ด้วยแผนที่จะฆ่าพระราชาทั้ง ๑๐๑ เมืองเสีย แต่มโหสถกลับได้ทำลายพิธีนั้นช่วยชีวิตพระราชาทั้งหมดไว้ ทำให้พระเจ้าจุลนีทรงโกรธแค้นเป็นอันมาก ยกทัพไปตีมิถิลาโดยไม่พึ่งคำทัดทานของปุโรหิตอีก แต่มโหสถก็ใช้อุบายป้องกันเมืองไว้ได้ด้วยความสามารถ เมื่อไม่อาจตีหักเอาเมืองได้ด้วยยุทธสงคราม เกวัฏพราหมณ์ก็อาสาพระเจ้าจุลนีจะรบกับมโหสถด้วยธรรมยุทธวิธี (รบโดยไม่ต้องใช้อาวุธ) แต่แล้วเกวัฏพราหมณ์ก็หลงกลอุบายของมโหสถ ทำให้กองทัพพระเจ้าจุลนีแตกหนีกลับไป เกวัฏพราหมณ์จึงมีความอาฆาตเคืองมโหสถ เมื่อมีโอกาสก็คิดกลอุบายขึ้นใหม่ โดยใช้รูปโฉมของพระธิดาพระเจ้าจุลนีเป็นเครื่องล่อ เพื่อจะลวงเอาพระเจ้าวิเทหราชและมโหสถไปฆ่าเสีย ณ เมืองตน จึงแต่งเพลงพรรณนาความงามของพระธิดาและจ้างให้นักขับไปขับร้องในกรุงมิถิลาเพื่อให้ได้ยินไปถึงพระกรรณ แล้วเกวัฏพราหมณ์ก็เป็นทูตเดินทางไปหาพระเจ้าวิเทหราชทูลให้ทราบว่า พระเจ้าจุลนีทรงยินดีที่จะพระราชทานพระธิดาแก่พระเจ้าวิเทหราช พระเจ้าวิเทหราชทรงดีพระทัย มิได้ระแวงสงสัย แต่เมื่อทรงปรึกษากับมโหสถ มโหสถกลับทูลคัดค้าน เพราะมโหสถรู้ว่าเป็นกลอุบายของเกวัฏพราหมณ์ พระเจ้าวิเทหราชไม่ทรงเชื่อ มโหสถจึงเดินทางล่วงหน้าไปอุตตร-บัญจาลนครและเตรียมหาทางป้องกันและแก้ไขเหตุการณ์ทั้งหลาย ดังนั้นเมื่อพระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปอุตตรบัญจาลนครและถูกล้อม-จับนั้น มโหสถก็แก้สถานการณ์ได้ทั้งหมด ให้พระเจ้าวิเทหราชได้เข้าพิธีอภิเษกกับพระธิดาและส่งกลับเมืองพร้อมกับนำพระมเหสีและพระชนนีของพระเจ้าจุลนีไปเป็นตัวประกันด้วย ในที่สุดพระเจ้าจุลนีต้องทรงยอมแพ้แก่มโหสถ และได้กระทำสัตย์สาบานว่าจะไม่ทำอันตรายซึ่งกันและกัน ทั้งพระเจ้าจุลนียังทรงชวนมโหสถให้อยู่รับราชการกับพระองค์ที่เมืองอุตตรบัญจาลนคร มโหสถจึงถวายสัญญาว่า เมื่อพระเจ้าวิเทหราชสวรรคตแล้วจึงจะมารับราชการด้วย ต่อมาเมื่อพระเจ้าวิเทหราชสวรรคต มโหสถได้ไปรับราชการอยู่กับพระเจ้าจุลนีตามสัญญา ได้แสดงปัญญาอันเป็นเลิศให้เป็นที่ประจักษ์ตลอดมา จนเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าจุลนีตลอดจนสิ้นอายุ