พระภูริทัต

ในสมัยพุทธกาล ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ในพระเชตวนาราม ในวันอุโบสถ ทรงทอดพระเนตรเห็นภิกษุทั้งหลายนั่งรอฟังพระธรรมเทศนาอยู่ ก็ทรงพระดำริว่า พระองค์ควรจะแสดงธรรมเรื่องความประพฤติในปางก่อนแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสว่า การที่อุบาสกทั้งหลายได้รักษาอุโบสถโดยมีพระองค์เป็นจึงตรัสเล่าเรื่องพระภูริทัต ดังนี้

ในอดีตกาลครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองกรุงพาราณสีนั้น พระองค์ทรงตั้งให้พระราชโอรสเป็นอุปราช แต่ต่อมาทรงระแวงว่าพระราชโอรสจะแย่งราชสมบัติ จึงโปรดให้พระราชโอรสออกไปเสียจากเมือง เมื่อพระองค์สวรรคตแล้วจึงค่อยกลับมา พระราชโอรสจึงจำต้องออกไปสร้างศาลาอาศัยอยู่ในป่า ไม่นานนักก็ได้นางนาคแม่ม่ายเป็นชายา มีโอรสและธิดาชื่อสาครพรหมทัตและนางสมุทรชา ภายหลังเมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคตแล้วบรรดาอำมาตย์ข้าราชบริพารออกไปเชิญพระราชโอรสกลับไปครองราชย์ แต่นางนาคชายาไม่ยอมตามเสด็จ อ้างว่าตนเป็นนาคไม่อาจไปอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ จึงไปแต่โอรสและธิดา เพราะโอรสและธิดาเกิดจากธาตุน้ำ พระบิดาจึงขุดสระให้เป็นที่ว่ายเล่น อยู่มาวันหนึ่ง เต่าตัวหนึ่งหลุดเข้าไปในสระ ทั้งสองพี่น้องตกใจกลัวพระราชาก็กริ้ว โปรดให้นำเต่าตัวนั้นไปทิ้งเสียที่น้ำวนในแม่น้ำยมุนา เต่าตัวนั้นตกลงไปในเมืองนาคถูกจับได้ จึงออกอุบายว่าตนเป็นทูตของพระเจ้าพาราณสี ซึ่งมีพระราชประสงค์จะถวายพระราชธิดาแก่ท้าวธตรฐ ท้าวธตรฐทรงหลงเชื่อมีความยินดี จึงให้นาคมานพขึ้นไปเฝ้าพระเจ้ากรุงพาราณสีพร้อมกับเต่า ถึงกลางทางเต่าหลบหนีไปเสีย ทูตนาคไปถึงกรุงพาราณสีก็ได้รับคำปฏิเสธจากพระเจ้ากรุงพาราณสี ท้าวธตรฐโกรธจึงให้นาคขึ้นไปขู่ขวัญบรรดาประชาราษฎร์ให้ตกใจกลัว พระเจ้ากรุงพาราณสีจึงจำต้องยอมยกนางสมุทรชาให้เป็นมเหสีท้าวธตรฐ อยู่กันจนมีโอรส ๔ องค์ คือ สุทัสนะ ทัตตะ สุโภคะ และอริฏฐะ ทัตตะนั้นปัญญาฉลาดทำหน้าที่แก้ปัญหาในเมืองนาคอยู่เนื่อง ๆ ท้าวสักกะเทวราชจึงพระราชทานนามว่าภูริทัต ต่อมาภูริทัตมีความปรารถนาจะได้ไปเกิดในสวรรค์ จึงทูลขออนุญาตบิดามารดาไปรักษาอุโบสถ แต่อยู่ในเมืองนาคไม่ได้รับความสงบ จึงนิรมิตกายขึ้นไปรักษาอุโบสถที่ต้นไทร วันหนึ่งนายพรานชาวพราหมณ์กับบุตรชายไปพบเข้า และได้รู้ว่าพระภูริทัตเป็นนาค พระภูริทัตกลัวว่าพราหมณ์นั้นจะนำอันตรายมาสู่พระองค์ จึงชวนไปอยู่เสียที่ในเมืองนาคปรนเปรอความสุขให้ทุกประการ อยู่ได้ไม่นานพราหมณ์ก็เบื่อลาพระภูริทัตกลับโลกมนุษย์ พระภูริทัตจะให้ควงแก้วศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่รับ

ในครั้งนั้นก็ได้มีครุฑตัวหนึ่งจับนาคได้ พาหิ้วบินผ่านต้นไทรที่อยู่ใกล้อาศรมฤๅษีตนหนึ่ง นาคได้เหนี่ยวเอาต้นไทรติดไปด้วย กว่าครุฑจะรู้ว่านาคถอนต้นไทรจากอาศรมฤๅษีก็เมื่อตอนโยนซากนาคลงมหาสมุทร และเสียงต้นไทรกระทบผิวน้ำดังสนั่นครุฑเกิดความกลัวบาป จึงแปลงตัวเป็นชายหนุ่มเข้าไปถามฤๅษีเมื่อรู้ว่าไม่บาป ก็ถวายมนต์อาลัมพายน์ที่ใช้สำหรับปราบงูให้แก่ฤๅษี ต่อมาฤๅษีก็มอบมนต์นั้นให้แก่พราหมณ์คนหนึ่งซึ่งตกยากและพเนจรมารับใช้ตน พราหมณ์นั้นเมื่อได้มนต์ก็ลาฤๅษีเดินทางไปพร้อมกับสาธยายมนต์ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งนาคบริวารของพระภูริทัตซึ่งขึ้นมาบนโลกมนุษย์ได้ยินเข้า ตกใจกลัวพากันหนีกลับเมืองนาค ทิ้งดวงแก้วศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นสมบัติของหมออาลัมพายน์ บังเอิญพรานสองพ่อได้มาพบเข้า ก็จำได้ว่าเป็นดวงแก้วที่พระภูริทัตเคยออกปากให้ตน ก็เกิดความอยากได้ เมื่อรู้ว่าหมออาลัมพายน์ต้องการจะทดลองมนต์กับนาคที่มีฤทธิ์เหนือนาคทั้งหลาย ก็ได้บอกที่อยู่ของพระภูริทัตเป็นการแลกเปลี่ยนโดยไม่ฟังคำทักท้วงของบุตรชาย บุตรชายจึงประณามการกระทำของบิดาแล้วหนีไปเสีย หมออาลัมพายน์พบพระภูริทัตแล้ว ก็โยนแก้วให้พราหมณ์ แก้วตกลงพื้นอันตรธานกลับเมืองนาค พราหมณ์จึงไม่ได้อะไรเลย ส่วนหมออาลัมพายน์ก็จับตัวพระภูริทัตใส่กรงพาไปแสดง ณ ที่ต่างๆ พระภูริทัตมีความโกรธอดทนต่อความบอบช้ำ เพื่อความสำเร็จในการรักษาอุโบสถ ในเวลาที่พระภูริทัตถูกทำร้ายนั้น นางสมุททชาผู้เป็นมารดาก็ฝืนร้าย และได้รู้แน่ว่าเกิดอันตรายขึ้นแก่พระภูริทัต โอรสทั้งสามก็รีบออกติดตาม โดยสุโภคะไปทางป่าหิมพานต์ อริฏฐะไปทางเทวโลก และสุทัสนะไปยังโลกมนุษย์ โดยมีนางอัจจมุขีน้องสาวต่างมารดาแปลงกายเป็นเขียดซ่อนไปในชฎาสุทัสนะตามไปพบหมออาลัมพายน์กำลังจะให้พระภูริทัตเริ่มการแสดงอยู่ ณ ประตูวัง พระภูริทัตเห็นพี่ชายเข้าก็ออกจากที่คุมขังไปซบที่เท้าสุทัสนะ ร้องไห้แล้วเลื้อยกลับเข้าที่คุมขัง หมออาลัมพายน์นึกว่างูของตนไปกัดคนดูเข้าก็เข้าไปถาม กลับถูกสุทัสนะพูดท้าทายและเกิดวางเดิมพันในการต่อสู้กัน โดยให้หมออาลัมพายน์สู้กับเขียดและสุทัสนะจะสู้กับนาค (คือพระภูริทัต) ใครชนะจะได้เงินเดิมพัน หมออาลัมพายน์ถูกไอพิษที่เขียดพ่นออกมาทำให้เป็นโรคเรื้อนไปในทันที เมื่อหมออาลัมพายน์สิ้นฤทธิ์ พระภูริทัตก็ออกจากที่คุมขัง เนรมิตกายให้เป็นที่ปรากฏพร้อมกับสุทัสนะและนางอัจจมุขี พระเจ้ากรุงพาราณสีจึงทรงทราบว่านาคทั้งสามเป็นหลาน

ผ่ายพราหมณ์ผู้บอกที่อยู่พระภูริทัตแก่หมออาลัมพายน์เห็นการณ์เป็นไปเช่นนั้น เกิดความกลัว ไปทำพิธีล้างบาปในแม่น้ำยมุนา สุภโคะจึงทำการทรมานพราหมณ์อย่างทารุณ และพาตัวกลับไปเมืองนาค อริตถะเห็นเข้าก็ห้ามมิให้ทำร้ายพราหมณ์เพราะเกรงว่าพระพรหมจะโกรธ แล้วได้กล่าวสรรเสริญพระพรหมและการบูชายัญ ภูริทัตได้พึ่งเห็นอริตถะเข้าใจผิดและจะทำให้นาคเชื่อผิด ๆ ไปด้วย จึงออกมาคัดค้านและแสดงโทษของการบูชายัญจนนาคเข้าใจกันแล้ว ก็สั่งให้ปล่อยพราหมณ์นั้นไปเสีย และพระภูริทัตก็รักษาอุโบสถต่อไป เมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ดังความปรารถนา