พลาสติกชีวภาพจากตะขบเพื่อยืดอายุและรักษาความสดของของผักและผลไม้
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ศศิพิมพ์ วัฒนเชษฐ์, พัชรธัญ ใส่ด้วง
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
จันทร์จิรา ชัยอินทรีอาจ
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
โครงงานพลาสติกชีวภาพจากตะขบเพื่อยืดอายุและรักษาความสดของของผักและผลไม้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมบัติของฟิล์มพลาสติกชีวภาพจากเซลลูโลสและเพคตินจากตะขบในการรักษาความสดของผักและผลไม้ เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้พลาสติกสังเคราะห์เป็นจำนวนมากซึ่งย่อยสลายได้ยาก ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาภาวะโลกร้อน กลุ่มผู้พัฒนาโครงงานจึงมีความสนใจที่จะใช้ตะขบนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ เนื่องจากเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่มีเป็นจำนวนมาก หาได้ง่ายและต้นทุนต่ำ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และออกผลตลอดทั้งปี
โดยนำน้ำตะขบมาดัดแปลงเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย Acetobacter xylinum ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถสร้างเซลลูโลสได้ ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมของอาหารเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียจากน้ำตะขบโดยปรับค่า pH เป็น 4, 4.5 และ 5 ปริมาณแอมโมเนียมซัลเฟต ( (NH4)2SO4 ) เข้มข้น 0.3, 0.5 และ 0.7 % ระยะเวลาในการหมักที่เหมาะสม ทำการสกัดเพคตินจากผลตะขบดิบ ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการสกัด โดยปรับอุณหภูมิในการต้มน้ำตะขบกับเอทานอลเป็น 70, 80 และ 90 องศาเซลเซียส อัตราส่วนเอทานอลเป็น 1:1 , 1:2 และ 1:3 ความเข้มข้นของกรดไฮโดรคลอริกเป็น 0.05 , 1.00 และ 2.00 โมลาร์ และอุณหภูมิที่เหมาะสมในการระเหยเป็น 60 , 70 และ 80 องศาเซลเซียส ทำฟิล์มพลาสติกชีวภาพจากเซลลูโลสและเพคตินที่สกัดได้จากตะขบ ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมโดยปรับอัตราส่วนเซลลูโลสต่อเพคตินเป็น 2:1, 3:1 และ 3:2 โดยมวล และปรับความเข้มข้นของกลีเซอรอลเป็น 20%, 30% และ 40% จากนั้นทำการทดสอบคุณภาพแผ่นฟิล์มพลาสติกโดยวัดความหนาโดยไมโครมิเตอร์ วัดความยืดหยุ่น การละลายน้ำ อัตราการซึมผ่านของไอน้ำ อัตราการซึมผ่านของก๊าซ การย่อยสลายทางทำธรรมชาติโดยฝังดิน นำพลาสติกชีวภาพจากเซลลูโลสและเพคตินจากตะขบที่ได้ไปทดสอบการรักษาความสดของเบบี้แครอท และเปรียบเทียบกับถุงพลาสติก LDPE โดย เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 16±2 ºC และที่อุณหภูมิห้อง ทำการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการทดลองมาประมวลผลทางสถิติโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป วิเคราะห์หาจำนวน ร้อยละ หาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) การวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of Variance) และทดสอบความแตกต่างระหว่างคู่แบบ LSD (Fisher’s least significant difference)
ประโยชน์และผลที่คาดว่าจะได้รับคือสามารถใช้ฟิล์มพลาสติกชีวภาพจากเซลลูโลสและเพคตินจากตะขบในการรักษาความสดของผักและผลไม้ทดแทนพลาสติกสังเคราะห์ สามารถผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติกชีวภาพโดยใช้เซลลูโลสและเพคตินจากตะขบ ได้สูตรอาหารดัดแปลงเลี้ยงเชื้อ Acetobactor xylinum จากตะขบในการผลิตเซลลูโลสและสกัดเพคตินจากผลตะขบ