การศึกษาประสิทธิภาพของถุงเพาะชำจากเยื่อเซลลูโลสของเปลือกสับปะรดและซังข้าวโพด

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

วรรณรัตน์ สวัสดิ์พงษ์, มนัญชยา ผุดผ่อง

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

มีนารัตน์ วงศ์เสน่ห์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ปัจจุบันเราจะเห็นการใช้พลาสติกเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะพบพลาสติกได้ในทุกหนทุกแห่งรอบๆตัวเรา เช่น จาน ชาม ช้อน แปรงสีฟัน หวี ภาชนะใส่ของ เครื่องใช้ต่างๆ เนื่องจากพลาสติกนั้นสามารถผลิตได้ง่าย มีราคาถูก น้ำหนักเบา ทนความชื้นได้ดี ไม่เป็นสนิม ทำให้เป็นรูปร่างต่างๆได้ง่ายกว่าโลหะหรือวัสดุประเภทอื่น ความต้องการใช้พลาสติกในปัจจุบันจึงมีจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด แต่ปัญหาก็คือการกำจัดพลาสติกเป็นไปได้ยาก และใช้เวลานานในการย่อยสลาย แต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ และครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง นอกจากนี้แต่ละปี มีปริมาณขยะพลาสติกกว่า 13 ล้านตันไหลลงสู่ทะเล ซึ่งประเทศไทยได้ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก ( โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ,2559 ) จะเห็นได้ว่าปัญหาขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกเป็นอย่างมาก

ถ้าเรามองถึงการเกษตรจะสามารถเห็นได้ว่าก็มีการใช้พลาสติกเป็นถุงเพาะชำในการปลูกต้นไม้ ซึ่งเมื่อนำต้นไม้ไปปลูกแล้ว ถุงเพาะชำก็จะถูกทิ้งเต็มไปหมดและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ทั้งยังทำให้เกิดเป็นปัญหาขยะ จากปริมาณพลาสติกที่เป็นขยะจากถุงเพาะชำนั้นเป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากเพราะย่อยสลายได้ยาก ใช้เวลาเป็นร้อยๆปี วิธีการกำจัดถุงพลาสติกนั้น มีอยู่ 2 วิธี คือ การฝัง และการเผา ซึ่งทั้ง2 วิธีก็ทำให้เกิดผลเสียตามมาเช่น การฝังจะทำให้พื้นที่นั้นจะทำการเกษตรไม่ได้อีกเลย เพราะ พลาสติกไม่ย่อยสลาย และการเผาถ้าเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ก็จะมีก๊าซพิษออกมา แต่แม้ว่าจะเผาไหม้สมบูรณ์ก็จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้น ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ทำได้ง่ายและ เกิดผลดีมากที่สุดคือการลด และ งดใช้พลาสติก

ด้านการเกษตรกรรมของประเทศไทยพืชที่นิยมปลูกคือข้าวโพดและสับปะรดซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ ผลจากการใช้สับปะรดและข้าวโพดทำให้เกิดปัญหาเปลือกของสับปะรดและซังข้าวโพดที่ไม่ได้ใช้ เนื่องจากสับปะรดและข้าวโพดเป็นพืชที่มีเส้นใยเซลลูโลสสูง ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงนำประโยชน์ของเปลือกสับปะรดและซังข้าวโพดมาแปรรูปให้เป็นถุงเพาะชำจากธรรมชาติแทนที่การใช้ถุงเพาะชำที่ผลิตจากปิโตรเลียม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องขยะจากถุงเพาะชำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากย่อยสลายได้ในธรรมชาติโดยใช้เวลาไม่นาน นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร