การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อบทบาทการเป็นศัตรูพืชของปูนาในระบบนิเวศนาข้าว และการปรับลดบทบาทการเป็นศัตรูพืช โดยการให้ความชื้นเพื่อปรับระดับฮอร์โมน methyl farnesoate
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
สิรภพ ตั้งวรเกษม, เปรมินทร์ เลิศพงษ์
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
วนิดา ภู่เอี่ยม, ชนันท์ เกียรติสิริสาสน์
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ในปัจจุบันมนุษย์ได้รับผลเสียอย่างมากจากสารเคมีที่ตกค้างจากการกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร ในระบบนิเวศนาข้าว ส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคลำดับต่างๆ เช่น มนุษย์ ผู้วิจัยจึงต้องการลดศัตรูพืชที่สำคัญคือปูนา ที่ทำลายต้นกล้าข้าววัยอ่อน ด้วยการปรับระดับฮอร์โมน methyl farnesoate ซึ่งจะส่งผลให้ เกิดพฤติกรรมการสืบพันธุ์แทนการทำลายต้นกล้าข้าววัยอ่อน มีวิธีดำเนินการและผลการทดลองดังต่อไปนี้ผู้วิจัยเริ่มศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อบทบาทการเป็นศัตรูพืชของปูนา พบว่าปูนาทำลายต้นกล้า ข้าววัยอ่อนอายุ 1 สัปดาห์มากที่สุด โดยปูนาจะลดการทำลายต้นกล้าข้าววัยอ่อนลงเมื่อมีแหล่งอาหารอื่น เมื่อปูนาได้รับความชื้นจะมีพฤติกรรมการจับคู่ ทำให้มีพฤติกรรมการทำลายต้นกล้าข้าววัยอ่อนลดลงอย่าง มี นัยยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 เมื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการให้ความชื้นและพฤติกรรมการสืบพันธุ์ของปูนา พบว่าปูนาที่ได้รับความชื้นเป็นเวลา 5 ชั่วโมง เกิดพฤติกรรมการสืบพันธุ์มากที่สุด และมีพฤติกรรมการกินอาหารน้อยที่สุด เมื่อศึกษาค่าความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการสืบพันธุ์และพฤติกรรมการกินอาหาร พบว่าพฤติกรรมย่อยคือการผสมพันธุ์และการเกาะหลัง มีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันกับพฤติกรรมการกินอาหารอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และเพื่อยืนยันการเปลี่ยนพฤติกรรม นำปูนาตรวจระดับฮอร์โมน methyl farnesoate พบว่าปูนาที่เกิดพฤติกรรมย่อยคือการหนีบและเดินเข้าหากันมีระดับฮอร์โมน methyl farnesoate มากที่สุด และปูนาที่มีพฤติกรรมย่อยคือผสมพันธุ์และ เกาะหลัง มีระดับฮอร์โมน methyl farnesoate ลดลงตามลำดับ ต่อมาผู้วิจัยนำปูนาที่เกิดพฤติกรรมการ ผสมพันธุ์และไม่เกิดพฤติกรรมการผสมพันธุ์มาทดลองเปรียบเทียบ พบว่าปูนาที่เกิดพฤติกรรมการสืบพันธุ์มีพฤติกรรมการทำลายต้นกล้าข้าววัยอ่อนที่ลดลงคิดเป็น 61 % ของปูนาที่ไม่เกิดการสืบพันธุ์อย่าง มีนัยยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และผู้วิจัยจึงนำปัจจัยที่สามารถลดบทบาทการเป็นศัตรูพืชของปูนาในระบบนิเวศนาข้าว มาประยุกต์ใช้ในแปลงข้าวทดลอง พบว่าแปลงข้าวทดลองที่ได้รับความชื้น เป็นเวลา 5 ชั่วโมงถูกทำลายเพียง 7.9 % ขณะที่แปลงข้าวทดลองที่ไม่ได้รับความชื้นมีต้นกล้าข้าววัยอ่อนถูกทำลายไป 36.9 %ดังนั้นการให้ความชื้นในระบบนิเวศนาข้าวทำให้ปูนามีระดับฮอร์โมน methyl farnesoate สูงขึ้นซึ่งปูนาจะเกิดพฤติกรรมการสืบพันธุ์ เป็นการแก้ปัญหาปูนาเป็นศัตรูพืชในระบบนิเวศนาข้าวได้จริง ทำให้ปูนามีบทบาทเชิงนิเวศวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่อนาข้าวทุกระยะ เกษตรกรจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อกำจัดปูนาและไม่เกิดสารเคมีที่ตกค้างที่ส่งผลต่อผู้บริโภคลำดับต่างๆทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศนาข้าวอย่างยั่งยืน