การพัฒนาตัวแบบสำหรับการทำนายอุณหภูมิพื้นผิวโลกในสามจังหวัดชายแดนใต้ของ ประเทศไทย โดยใช้ข้อมูล MODIS LST

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

อับบาส หมัดตะพงศ์, บิลาล สุไลมาน

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สล้าง มุสิกสุวรรณ, รัตติกานต์ แซ่ลิ่ม

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

สภาพอากาศโดยทั่วไป หมายถึง อุณหภูมิ ความชื้น เมฆ หมอก ลม ฝน และทัศนวิสัย การรู้เรื่องลมฟ้าอากาศ (Weather) เป็นการเรียนรู้สภาพของอากาศในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตาม วัน เวลาและสถานที่ ส่วนการรู้เรื่องภูมิอากาศ (Climate) ก็เป็นการเรียนรู้สภาพอากาศที่เกิดขึ้นเป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ภูมิอากาศจึงเป็นสภาพอากาศที่มีค่าปานกลางของแต่ละพื้นที่ เช่น ภูมิอากาศของกรุงเทพมหานครมีอุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส อากาศมีความแตกต่างกันเนื่องจากองค์ประกอบ 3 อย่างคือ อุณหภูมิ ความชื้น และความกดอากาศ โดยองค์ประกอบดังกล่าวเกิดจากการได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ และองค์ประกอบทั้งหมดจะแตกต่างกันเนื่องจาก 6 ปัจจัยหลัก คือ

ปัจจัยที่ 1: ระดับละติจูด มีผลต่อการได้รับปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์เนื่องจากแกนของโลกเอียงจากแนวดิ่ง 23 องศา การโคจรรอบดวงอาทิตย์จึงเอียงไปด้วย ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์สลับกัน ในแต่ละพื้นที่จึงได้รับปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน

ปัจจัยที่ 2: ความแตกต่างระหว่างพื้นดินและพื้นน้ำ พื้นดินและพื้นน้ำมีคุณสมบัติที่ต่างกัน มีผลต่อการคายและการดูดความร้อน โดยพื้นน้ำจะโปร่งแสง แสงจะส่องผ่านได้ลึก เมื่อได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ความร้อนจะกระจายออกไปในแนวกว้างและแนวลึก ความร้อนส่วนหนึ่งจะถูกใช้สำหรับการระเหยของน้ำจึงทำให้พื้นน้ำร้อนช้ากว่าพื้นดิน ในส่วนที่ความร้อนกระจายไปลึกการคายความร้อนจึงเป็นไปได้ช้า พื้นดินจะทึบแสง แสงจะส่องผ่านได้ยาก เมื่อได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ความร้อนจะกระจายได้น้อย ความร้อนจะอยู่แค่ผิวดิน พื้นดินจึงร้อนเร็วกว่าพื้นน้ำ และคายความร้อนได้เร็วกว่าพื้นน้ำ

ปัจจัยที่ 3: ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลของพื้นที่ ชั้นบรรยากาศที่ถัดจากผิวโลกขึ้นไปคือ ชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) เป็นชั้นที่อุณหภูมิจะลดลงตามระดับความสูงด้วยอัตรา 6.4 องศาเซลเซียส ต่อ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิปกติ นั่นคือ อุณหภูมิตามระดับความสูงของพื้นที่เหนือระดับน้ำทะเลจะลดลงไปด้วย

ปัจจัยที่ 4: กระแสน้ำในมหาสมุทร เป็นกระแสน้ำที่เรียบชายฝั่งไม่ว่าจะเป็นจากขั้วโลกมาศูนย์สูตร หรือ จากเขตร้อนไปละติจูดสูงก็จะมีผลต่ออุณหภูมิของอากาศบริเวณที่กระแสน้ำไหลผ่านด้วย

ปัจจัยที่ 5: ลักษณะภูมิประเทศ มีผลต่ออากาศ เช่น แนวเทือกเขาที่กั่นการเคลื่อนที่ของอากาศจะมีผลต่ออุณหภูมิและความชื้นของอากาศที่อยู่คนละด้านของเทือกเขา

ปัจจัยที่ 6: มนุษย์ เป็นผู้สร้างกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่ออากาศ ทั้งการใช้สารเคมีที่ทำลายชั้นบรรยากาศ การสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่า เป็นต้น

ระดับละติจูดส่งผลต่อการรับแสงของผิวโลก และทำให้อุณภูมิเป็นหนึ่งในปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีผลต่อผลิตผลทางการเกษตร ด้วยเหตุนี้ทางผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิพื้นผิวดินในรอบ 2 ทศวรรษ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และพัฒนาตัวแบบสำหรับการทำนายอุณหภูมิล่วงหน้าโดยใช้ข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวดิน (Land Surface Temperature: LST) ที่สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ NASA (https://modis.ornl.gov/) ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ได้