การศึกษาแผ่นฟิล์มชีวภาพจากสารสกัดแทนนินต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในการชะลอการเน่าเสียของมะเขือเทศพันธุ์สีดา
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ศรัณย์ภัชร นาคประวัติ, พัทธนันท์ กิตติธาดา, พันธิตรา โตสติ
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
พนิดา อภิบาล
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
การศึกษาแผ่นฟิล์มชีวภาพจากสารสกัดแทนนินต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในการชะลอการเน่าเสียของมะเขือเทศพันธุ์สีดา มีวัตถุประสงค์คือ 1) ศึกษาและเปรียบเทียบปริมาณแทนนินจากพืช
3 ชนิด ได้แก่ ใบพลู ใบฝรั่ง และเปลือกพะยอม 2) ศึกษาการนำสารแทนนินจากพืชทั้ง 3 ชนิด ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus 3) ศึกษาอัตราส่วนของกลีเซอรอลที่เหมาะสมในการขึ้นรูปแผ่นฟิล์มแทนนิน 4) เปรียบเทียบประสิทธิภาพการชะลอการเน่าเสียของมะเขือเทศพันธุ์สีดาระหว่างแผ่นฟิล์มแทนนินและแผ่นฟิล์มในท้องตลาด โดยสกัดสารแทนนินจากพืชทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ ใบพลู ใบฝรั่ง และเปลือกพะยอม ด้วยวิธีการสกัดด้วยความร้อน โดยใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย พบว่าพืชทั้ง 3 ชนิดมีสารสกัดแทนนินแตกต่างกัน โดยใบฝรั่งมีสารแทนนินมากที่สุด คือ 15.63 mg/L นำสารสกัดแทนนินจากพืชทั้ง 3 ชนิด ทดสอบความสามารถในยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ E.coli, P.s aeruginosa และ S.aureus โดยใช้วิธี Disc diffusion method พบว่าใบฝรั่งมีค่าเฉลี่ยของความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณยับยั้งเชื้อมากที่สุด นำสารสกัดแทนนินจากใบฝรั่งมาหาอัตราส่วนการขึ้นรูปแผ่นฟิล์มจากสารแทนนิน โดยนำสารแทนนินความเข้มข้น 15.63 mg/L ปริมาตร 25 ml มาผสมกับแป้งมันสำปะหลัง 2 กรัม โซเดียมไบคาร์บอเนตร้อยละ 2 %m/v และกลีเซอรอลที่ความเข้มข้นแตกต่างกัน คือ 20, 30, 40 % พบว่าปริมาณกลีเซอรอลความเข้มข้นร้อยละ 30 มีความเหมาะสมกับการขึ้นรูปแผ่นฟิล์มแทนนินมากที่สุด และนำฟิล์มแทนนินที่ได้มาเปรียบเทียบกับฟิล์มในท้องตลาด โดยนำแผ่นฟิล์มไปห่อมะเขือเทศพันธุ์สีดา วางทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง 32 ± 3 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ นำไปหาเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนัก พบว่าแผ่นฟิล์มแทนนินมีร้อยละการสูญเสียน้ำหนักร้อยละ 16.44 ซึ่งใกล้เคียงกับแผ่นฟิล์มในท้องตลาดมีร้อยละการสูญเสียน้ำหนักเท่ากับ 14.70 ซึ่งแผ่นฟิล์มแทนนินสามารถผลิตเป็นฟิล์มย่อยสลายได้เองโดยธรรมชาติสำหรับประยุกต์ใช้เพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทดแทนการใช้ฟิล์มพลาสติก ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะได้อีกทางหนึ่ง