การศึกษาสัณฐานวิทยาและความสามารถในการยับยั้งเชื้อ Xanthomonas campestris pv. citri ก่อโรคแคงเกอร์ในมะนาวโดยเชื้อราในลูกแป้งจากจังหวัดพิษณุโลก

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

อริยา บัวหลวง, วรางคณา รอดสการ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ทวีศักดิ์ เปี่ยมทัพ, ปิยะมาศ เจริญชัย

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

มะนาวจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดมีความต้องการสูงตลอดทั้งปี แต่มะนาวมักจะพบโรคต่าง ๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร โดยโรคแคงเกอร์เป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่เกษตรกรที่ปลูกมะนาวเป็นอย่างมาก โดยโรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้มมีสาเหตุจาก Xanthomonas campestris pv. citri ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ เซลล์เดียวมีรูปร่างเป็นท่อน โคโลนีมีสีเหลืองและมีลักษณะเป็นเมือก (ธนกร และคณะ, 2554) เกษตรกรนิยมใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดโรคแคงเกอร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดสารพิษตกค้าง และมักจะได้ผลแค่ในระยะแรก เนื่องจากเชื้อสามารถปรับตัวและเกิดการดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการนำเชื้อราปฏิปักษ์มาใช้เพื่อควบคุมเชื้อ Xanthomonas campestris pv. citri จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่สามารถควบคุมโรคนี้ได้อย่างยั่งยืน เช่น การนำจุลินทรีย์เอนโดไฟท์ที่แยกได้จากพืชตระกลูส้มมายับยั้ง X.citrisubsp.citri พบว่า จุลินทรีย์เอนโดไฟท์ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของ X. citri subsp. citri ได้แก่ เชื้อรา Pestalotiopsis TA 18, Fusarium SO21 และ Fusarium PO55 และแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ Bacillus โดยน้ำเลี้ยงเชื้อและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากจุลินทรีย์เอนโดไฟท์สามารถควบคุมการเกิดโรคแคงเกอร์ในมะนาวได้ (อรวรรณ ด้วงฟู, 2559)

ลูกแป้งข้าวหมากเป็นหัวเชื้อหมักข้าวเหนียวที่คิดค้นสูตรจากคนไทยสมัยโบราณ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาช้านาน โดยได้มีการศึกษาการคัดแยกและจำแนกจุลินทรีย์จากลูกแป้งเป็นกล้าเชื้อ พบว่า ราที่พบในลูกแป้งของตลาดศรีราชาและตลาดหนองมน สามารถจำแนกเชื้อราตามลักษณะโคโลนีที่แตกต่างกันได้ เชื้อรามีลักษณะใกล้เคียงกับเชื้อราสกุล Amylomyces, Penicillium และ Aspergillus (อรอง จันทร์ประสาทสุข, 2559)

ดังนั้นจึงทำให้ผู้ศึกษาเกิดแนวคิดที่จะคัดแยกเชื้อราปฏิปักษ์จากลูกแป้งในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีส่วนผสมของเชื้อราและสามารถหาได้ง่าย มีราคาไม่แพง โดยนำน้ำเลี้ยงเชื้อรามาใช้ในการยับยั้งเชื้อ Xanthomonas campestris pv. citri ที่ก่อโรคแคงเกอร์ในมะนาวด้วยวิธี agar well diffusion