การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากข่าและน้ำส้มควันไม้ ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา C. gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรคโนสในผลไม้

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

อภิญญา ชาญชัยวีระพันธุ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

อิสญาภา ธรรพรังษี

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากข่าและน้ำส้มควันไม้ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา C. gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรคโนสในผลไม้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดหยาบจากข่าและน้ำส้มควันไม้ต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา C. gloeosporioides ด้วยวิธี Poisonned food technique, ศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมของสารสกัดหยาบจากข่าและน้ำส้มควันไม้ที่มีฤทธิ์ต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา C. gloeosporioides ด้วยวิธี Poisonned food technique, ศึกษาประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา C. gloeosporioides ของสารสกัดหยาบจากข่าและน้ำส้มควันไม้ ประยุกต์ใช้กับกระดาษชนิดต่าง ๆ ด้วยวิธี disc diffusion method และศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากข่าและน้ำส้มควันไม้ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา C. gloeosporioides ในผลไม้ตัวอย่าง (กล้วยหอม)

โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ตอน

ตอนที่ 1 ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดหยาบจากข่าและน้ำส้มควันไม้ต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา C. gloeosporioides ด้วยวิธี Poisonned food technique พบว่า ที่ความเข้ม 50,000 ppm สารสกัดหยาบจากข่าสดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ดีกว่าสารสกัดหยาบจากข่าแห้งและน้ำส้มควันไม้ โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 61.97 รองลงมาคือสารสกัดหยาบจากข่าแห้ง โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 60

ตอนที่ 2 ศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมของสารสกัดหยาบจากข่าและน้ำส้มควันไม้ที่มีฤทธิ์ต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา C. gloeosporioides ด้วยวิธี Poisonned food technique พบว่า อัตราส่วนระหว่างน้ำส้มควันไม้ต่อสารสกัดหยาบจากข่าสดที่ความเข้ม 1:2 สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ดีกว่าอัตราส่วน 1:1 และ 1:3 โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 86.67 รองลงมาคืออัตราส่วน 1:3 โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 83.11

ตอนที่ 3 ศึกษาประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา C. gloeosporioides ของสารสกัดหยาบจากข่าและน้ำส้มควันไม้ ประยุกต์ใช้กับกระดาษชนิดต่าง ๆ พบว่า กระดาษหนังสือพิมพ์สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสารได้ดีที่สุด โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 50 รองลงมาคือกระดาษน้ำตาล โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 41.67

ตอนที่ 4 ศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากข่าและน้ำส้มควันไม้ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา C. gloeosporioides ในผลไม้ตัวอย่าง (กล้วยหอม) พบว่า สารสกัดหยาบจากข่าและน้ำส้มควันไม้สามารถยับยั้งโรคแอนแทรคโนสได้