การพัฒนาและทดสอบคุณสมบัติแผ่นรองนอนแบบเจลสำหรับผู้ป่วยแผลกดทับจากพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิยูรีเทนโดยใช้น้ำมันเมล็ดยางพารา
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ภูษิตา จิตต์ปราณี, ปริชญา เอ่นแคน
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
วัชราภรณ์ แสนนา
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
โครงงานเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดน้ำมันจากเมล็ดยางพารา สำหรับเตรียมเป็นพอลิออล ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในสังเคราะห์พลาสติกชีวภาพชนิดพอลิยูรีเทน โดยนำเมล็ดยางพารามากะเทาะเปลือกและนำส่วนของเนื้อในมาสกัดน้ำมันด้วยวิธีการบีบอัดแบบร้อน พบว่าเนื้อในเมล็ดยางพารา 4.5 กิโลกรัม สกัดได้น้ำมันเมล็ดยางพาราดิบ 1,200 กรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 26.67 โดยน้ำมันเมล็ดยางพาราที่สกัดได้มีลักษณะเป็นของเหลวหนืด สีน้ำตาลขุ่น มียางเหนียวในปริมาณสูง และเมื่อตั้งทิ้งไว้จะเกิดการเหม็นหืน เนื่องจากมีกรดไขมันอิสระจำนวนมาก เมื่อทำการวิเคราะห์ค่า Acid number พบว่า มีค่าเท่ากับ 26.48 และเมื่อนำมาผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ เพื่อกำจัดกรดไขมันอิสระและยางเหนียว พบว่าเกิดการแยกชั้นของไขกับน้ำมันเมล็ดยางพาราบริสุทธิ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวหนืดสีน้ำตาล มีความขุ่นเล็กน้อย ไม่มียางเหนียว และมีค่า Acid number เท่ากับ 8.19 เมื่อนำน้ำมันเมล็ดยางพาราบริสุทธิ์มาดัดแปลงโครงสร้างผ่านปฏิกิริยาอิพอกซิเดชันและปฏิกิริยาไฮดรอกซิเลชันเพื่อเปลี่ยนพันธะคู่ของกรดไขมันไม่อิ่มตัวให้เป็นหมู่ไฮดรอกซิล น้ำมันที่ผ่านการดัดแปลงโครงสร้างมีลักษณะเป็นของเหลวหนืด สีเหลืองใส และมีค่า Acid number เท่ากับ 6.03 จึงสรุปได้ว่าน้ำมันเมล็ดยางพาราที่ผ่านการดัดแปลงโครงสร้างด้วยปฏิกิริยาอีพอกซิเดชันและปฏิกิริยาไฮดรอกซิเลชัน มีการกำจัดกรดไขมันออกไป ส่งผลให้มีค่า Acid number ลดลง น้ำมันเมล็ดยางพาราที่ผ่านการดัดแปลงโครงสร้างจะสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์พลาสติกชีวภาพชนิดพอลิยูรีเทน และใช้ในการผลิตแผ่นรองนอนแบบเจลจากพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิยูรีเทน สำหรับผู้ป่วยที่มีแผลกดทับต่อไป
คำสำคัญ: ปฏิกิริยาอีพอกซิเดชัน, ปฏิกิริยาไฮดรอกซิเลชัน, การดัดแปลงโครงสร้างน้ำมันเมล็ดยางพารา