การสร้างส่วนของโบราณสถาน วัดไลย์ จังหวัดลพบุรี โดยการใช้สมการเส้นโค้งพื้นฐาน (B-spline) ในการวิเคราะห์ข้อมูล

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ภีรปวิช พานนท์, ปัณณวัฒน์ เพาะกระโทก, กมลลักษณ์ จำปา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ธัชพล เวชพิทักษ์, ทิพรัตน์ แสงฤทธิ์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

วัดไลย์ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วิหารเก้าห้อง หนึ่งในโบราณสถานของวัด เป็นหนึ่งโบราณสถานที่มีความสำคัญและเก่าแก่ วิหารแห่งนี้มีการบูรณะตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ผนังลายปูนปั้นละเอียดที่แสดงถึงเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา หนึ่งในนั้นคือผนังด้านนอกฝั่งทิศตะวันออกของวิหาร ที่แสดงเรื่องราวในตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากชั้นดาวดึงส์ ในส่วนด้านล่างของผนังเป็นที่ช่องแสง ได้มีการสึกกร่อนของลายปูนปั้นทำให้ไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของประติมากรรมได้อย่างสมบูรณ์

ในปัจจุบันวัดไลย์เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักศิลปากรที่ 4 กรมศิลปากร โดยมีหลักการบูรณะโบราณสถาน ให้เป็นไปตามหลักการอนุรักษ์โบราณสถาน คือ วัสดุต้องคงเดิม รูปแบบคงเดิม ฝีมือคงเดิม และ สิ่งแวดล้อมคงเดิม และมีแผนการบูรณะจากกรมศิลปากรเท่านั้น

จากปัญหาที่กล่าวมาทางคณะผู้จัดทำโครงงาน ได้คำนึงถึงคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมรวมทั้งโบราณสถานวัดไลย์ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จึงได้จัดทำโครงงาน เรื่อง “การสร้างส่วนของโบราณสถาน วัดไลย์ จังหวัดลพบุรี โดยการใช้สมการเส้นโค้งพื้นฐาน (B-spline) ในการวิเคราะห์ข้อมูล” โดยได้ใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ร่วมกับข้อมูลทางดิจิทัล จัดข้อมูลให้อยู่ในรูปของ B-spline ในการบูรณะส่วนของวิหารเก้าห้องให้สามารถแสดงผลในรูปคอมพิวเตอร์ได้ สามารถนำมาสร้างต้นแบบหรือชิ้นส่วนของประติมากรรมได้อีกด้วย