ไข่เทียมของผีเสื้อร่วมกับสารสกัดจากพืชวงศ์ Asteraceae ในการควบคุมการวางไข่ การฟักออกเป็นตัวของไข่ และหนอนผีเสื้อกินใบมะนาว Papilio demoleus Linnaeus.

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ซาย นน เลิน

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

พัชรินทร์ เทียมสุวรรณ, วรพจน์ จูเภา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา"

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

จากการศึกษาไข่เทียมของผีเสื้อร่วมกับสารสกัดจากพืชวงศ์ Asteraceae ในการควบคุมการวางไข่

การฟักออกเป็นตัวของไข่ และหนอนผีเสื้อกินใบมะนาว (Papilio demoleus Linnaeus) เพื่อแก้ปัญหาผีเสื้อหนอนกินใบมะนาวมาวางไข่บนต้นมะนาว และควบคุมการกินใบมะนาวของหนอนผีเสื้อ ด้วยสารสกัดจากธรรมชาติที่ปลอดภัยสำหรับเกษตรกรและผู้บริโภค จากการสังเกตพฤติกรรมการวางไข่ของผีเสื้อกระจายไปทั่ว ๆ ไม่ซ้ำที่เดิม จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะผลิตไข่เทียมจากวัสดุธรรมชาติ นำไปติดไว้บนยอดอ่อนของต้นมะนาว เพื่อหลอกว่ามีผีเสื้อตัวอื่นมาวางไข่แล้ว ซึ่งเป็นการป้องกันการวางไข่ของผีเสื้อ และเพิ่มประสิทธิภาพด้วยสารสกัดจากพืชที่มีฤทธิ์ต่อการฟักออกเป็นตัวของไข่และการกินใบมะนาวของหนอนผีเสื้อวัยที่ 1 ดังนั้นในขั้นตอนแรกทำการศึกษานำไข่เทียมจากเส้นใยแกนกลางลำต้นมันสำปะหลังขนาด 0.5-1.0 mm ผสมเข้ากับสารละลายจากสารสกัดพืชวงศ์ Asteraceae จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ต้นดาวเรือง ต้นสาบเสือ และต้นสาบม่วงที่ระดับความเข้มข้น 1.25% w/v โดยการฉีดพ่นลงไปบนยอดมะนาวชนิดละ 4 ต้นต่อซ้ำ ภายใน 1 กรง ในหนึ่งต้นจะมียอดอ่อนของมะนาวอยู่ 25 ยอด ต้นมะนาวมีทั้งหมด 60 ต้น อยู่ในเรือนทดลองที่ปล่อยผีเสื้อจำนวน 3 ตัว ต่อกรง ตัวผู้ 1 ตัว และตัวเมีย 2 ตัว เก็บผลการทดลองเปอร์เซ็นต์การป้องกันวางไข่ (prevention lay eggs) พบว่า ไข่เทียมเคลือบและฉีดพ่นสารสกัดจากต้นสาบเสือมีเปอร์เซ็นต์การป้องกันการวางไข่สูงถึง 95% ซึ่งมีความแตกต่างอย่าง

มีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนเปอร์เซ็นต์การฟักออกเป็นตัวของไข่ (incubation of eggs) พบว่า สารสกัดทั้ง 3 ชนิด ไม่มีผลต่ออัตราการฟักออกเป็นตัวของไข่ ส่วนเปอร์เซ็นต์

การตายของหนอนวัยที่ 1 (rate of death) พบว่าสารสกัดทั้ง 3 ชนิดมีผลต่ออัตราการตายของหนอนวัยที่ 1

แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ส่วนในการเป็นสารฆ่าสารสกัดจากสาบเสือ

ให้ผลการทดลองที่ดีที่สุด จากนั้นนำใบมะนาวมาชุบด้วยสารสกัดจากสาบเสือที่ความเข้มข้นต่าง ๆ ได้แก่ 0.3125, 0.625, 1.25, 2.5 และ 5.0% w/v มาทดสอบให้หนอนวัยที่ 4 กิน เป็นระยะเวลา 24 และ 48 ชั่วโมง เพื่อศึกษาการยับยั้งการกิน (enti-feedant tast) พบว่าสารสกัดจากสาบเสือมีผลต่อการยับยั้งการกินของหนอนกินใบมะนาวได้ถึง 68.74 และ 73.52 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และการเป็นสารฆ่าโดยการกิน (oral toxicity test) พบว่าที่ระดับความเข้มข้น 5% สารสกัดสาบเสือมีผลต่อการฆ่าของหนอนกินใบมะนาวได้สูงสุดถึง 80.95 และ 100% ตามลำดับ ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพในการเป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโต (inhibiting growth test) จะใช้สารละลายที่ระดับความเข้มข้นที่ต่ำที่สุดคือ 0.3125% w/v พบว่าสามารถทำให้มีอัตราการตายในระยะดักแด้ถึง 52.38% และสามารถเพิ่มระยะเวลาของหนอนกินใบในการพัฒนาเจริญเติบโตเป็นระยะดักแด้และตัวเต็มวัย 8.29 และ 17.72 วัน ตามลำดับ ดังนั้นวิธีการดังกล่าวสามารถช่วยเกษตรกรในการป้องกันการวางไข่ของผีเสื้อกินใบมะนาว และยังช่วยตัดวงจรชีวิตของหนอนวัยที่ 1 ที่จะก่อปัญหาตามมาได้ ส่วนสารสกัดจากธรรมชาติ ยังสามารถช่วยลดการเข้าทำลายยอดมะนาวของหนอนวัยที่ 4 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นวิธีที่ลดต้นทุนให้กับเกษตรกรและปลอดภัยต่อผู้บริโภคแบบยั่งยืน