การพัฒนาแผ่นนำส่งไนโอโซมที่กักเก็บสารสกัดจากพืชวงศ์ตะแบกผ่านผิวหนังจากวัสดุชีวภาพ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

เบญญาภา อินสว่าง, ชัยชนะ พันตัน, ธนวินท์ ดวงจันทร์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ชนัญ ผลประไพ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2560

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหากับผู้ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และที่สำคัญคือโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เกิดจากความไวต่อฮอร์โมนอินซูลินที่เยื่อหุ้มเซลล์ลดลง ทำให้การลำเลียงกลูโคสเข้าสู่เซลล์ไม่เป็นไปตามปกติ

จากการศึกษา พบว่ามีสารจากสมุนไพรในใบอินทนิลน้ำที่อยู่ในวงศ์ตะแบกมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องจากมีสารสำคัญคือกรดโคโรโซลิก (corosolic acid) โดยกรดโคโรโซลิกจะเข้าไปช่วยให้เกิดการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้น ดังนั้นผู้ศึกษาจึงสนใจศึกษาหากรดโคโรโซลิกในพืชวงศ์ตะแบกชนิดอื่น ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย อินทนิลบก เสลา และตะแบก สารสกัดนี้จะถูกกักเก็บด้วยถุงไนโอโซม ที่มีลักษณะเป็นอนุภาคนาโน สามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดได้ แล้วไปบรรจุในแผ่นนำส่งสารจากวัสดุชีวภาพ และศึกษาคุณสมบัติและการแพร่ของสาร

ในการทำการทดลองนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือการสกัดสารจากใบพืชวงศ์ตะแบก จะมีการเปรียบเทียบตัวทำละลายที่ใช้ในการสกัด เพื่อให้ได้ปริมาณกรดโคโรโซลิกมากที่สุด การทำไนโอโซม ให้มีคุณสมบัติที่ดีที่สุด สามารถกักเก็บสารสกัดได้และสามารถส่งผ่านสารได้ และการทำแผ่นนำส่งสารจากวัสดุชีวภาพ แล้วจะมีการวิเคราะห์คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาและทางเคมี

ผู้ศึกษาหวังว่าการทดลองนี้ จะมีประโยชน์ต่อผู้มีปัญหาระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาหรือพัฒนาต่อไป