สารต้านแบคทีเรียจากสารสกัดเปลือกทุเรียน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

เพ็ญพิชชา ศิริสูงเนิน, จิตา สุประดิษฐ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

จันทร์จิรา มณีสาร

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนกำเนิดวิทย์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2560

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียของสารสกัดจากเปลือกทุเรียนและศึกษาชนิดและโครงสร้างของสารที่เป็นองค์ประกอบในสารสกัดจากเปลือกทุเรียน ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียชีวิตลงด้วยโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย ดังนั้นผู้พัฒนาจึงมีความสนใจศึกษาค้นคว้าสาารสกัดจากธรรมชาติที่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด จากการศึกษาพบว่าเปลือกทุเรียนสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิดได้ นอกจากนี้เปลือกทุเรียนยังเป็นขยะเหลือใช้ทางการเกษตร หากสามารถนำมาประโยชน์ได้ก็จะเป็นการลดมลภาวะจากการเผาทำลายเปลือกทุเรียน สายพันธ์ุของทุเรียนที่นำมาทดลองคือพันธุ์พวงมณี พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี และพันธุ์ก้านยาวซึ่งพบมากในจังหวัดระยอง และแบคทีเรียที่จะนำมาทดสอบกับสารต้านแบคทีเรียที่สกัดมาจากเปลือกทุเรียน ได้แก่ Staphylococcus aureus, Staphylococcus epidermidis, Escherichia coli, Proteus vulgaris, Clostridium tetani, Streptococcus pyogenes, Salmonella typhimurium, Pseudomonas aeruginosa โดยแบ่งการทดลองเป็น 5 ส่วน ดังนี้ การสกัดสารต้านเชื้อแบคทีเรียจากเปลือกทุเรียน การตรวจสอบการยับยั้งแบคทีเรีย การแยกสารและศึกษาโครงสร้างของสารยับยั้งแบคทีเรีย การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสารต้านแบคทีเรียจากเปลือกทุเรียนกับผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และตรวจสอบอายุการใช้งานของสารสกัดจากเปลือกทุเรียน ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการทดลองนี้คือ สารสกัดเปลือกทุเรียนสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้จริง สามารถระบุชนิดและโครงสร้างของสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งแบทีเรียในสารสกัดจากเปลือกทุเรียน และประสิทธิภาพของสารสกัดจากเปลือกทุเรียนเทียบเท่ากับหรือดีกว่าสารเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย ซึ่งจะสามารถลดจำนวนสิ่งตกค้างทางการเกษตรและลดมลพิษจากการเผาทำลายและผู้พัฒนามีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการพัฒนาสารต้านแบคทีเรียจากเปลือกทุเรียนเพื่อนำไปสู่การพัฒนายาปฏิชีวนะที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและมีประสิทธิภาพ