การพัฒนาเม็ดบีทจากยางมะกอกป่าเพื่อควบคุมการปลดปล่อย สารซาโปนินในการกำจัดหอยที่เป็นศัตรูพืชทางการเกษตร
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
กุลณัฐน์ จักรใจวงศ์, รุ่งรวี อินต๊ะวงค์, เกวลิน เขื่อนแก้ว
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
เกียรติศักดิ์ อินราษฎร
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ซาโปนินเป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดหอยที่เป็นศัตรูพืชในทางการเกษตร อย่างไรก็ตามสารดังกล่าวมีผลกระทบต่อสัตว์เลือดเย็นชนิดอื่นๆ ด้วย หากระดับความเข้มข้น โครงงานนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาเม็ดบีทจากไฮโดรเจลยางมะกอกป่าเพื่อควบคุมการปลดปล่อยสารซาโปนินในการกำจัดหอยที่เป็นศัตรูพืชทางการเกษตร โดยแบ่งเป็น 4 การทดลอง ดังนี้ การทดลองที่ 1 ศึกษาสมบัติของสารสกัดซาโปนินจากพืชในท้องถิ่น โดยสกัดสารซาโปนินจากผลชาน้ำมัน มะคำดีควายและส้มป่อยโดยใช้เมทานอล นำสารสกัดที่ได้ตรวจสอบสมบัติทางกายภาพและวิเคราะห์สารองค์ประกอบด้วยเทคนิคโครมาโทกราฟีเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน (sapogenin) พบว่าสารสกัดจากพืชทั้งสามชนิดมีซาโปนินเป็นองค์ประกอบ โดยสารสกัดจากชาน้ำมันมีปริมาณซาโปนินที่สกัดได้มากที่สุด รองลงมาคือมะคำดีควายและส้มป่อยโดยมีค่าเท่ากับ 8.45, 5.12 และ 3.65% ตามลำดับ การทดลองที่ 2 ศึกษาสมบัติของไฮโดรเจลจากยางมะกอกป่า โดยนำไฮโดรเจลจากยางมะกอกป่ามาวิเคราะห์สมบัติ เปรียบเทียบกับไฮโดรเจล จากโซเดียมอัลจิเนตและไฮโดรเจลจากพอลิอะคริเลต พบว่าไฮโดรเจลจากยางมะกอกป่ามีสมบัติในการดูดซับสารละลายได้มากกว่าโซเดียมอัลจิเนต แต่มีการอุ้มสารละลายได้น้อยกว่าพอลิอะคริเลต รวมทั้งมีอัตราการย่อยสลายได้เร็วกว่าถึง 2.8 เท่าและสามารถนำมาขึ้นรูปเป็นเม็ดบีทได้ การทดลองที่ 3 ศึกษาการควบคุมการปลดปล่อยสารซาโปนินของเม็ดบีทจากยางมะกอกป่า โดยนำสารสกัดซาโปนินจากผลชาน้ำมันผสมกับไฮโดรเจล จากยางมะกอกป่าความเข้มข้น 500 ppt นำมาขึ้นรูปเม็ดบีทด้วยการหยดในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ นำไปทดสอบการปลดปล่อยสารซาโปนินด้วยชุดอุปกรณ์ ทุกๆ ชั่วโมง สุ่มสารละลายในชุดอุปกรณ์เพื่อวิเคราะห์ปริมาณสารซาโปนินที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากเม็ดบีทเปรียบเทียบกับเม็ดบีทจากโซเดียมอัลจิเนตและพอลิอะคริเลต พบว่าเม็ดบีทจากยางมะกอกป่าสามารถควบคุมการปลดปล่อยซาโปนินให้มีความสม่ำเสมอมากกว่าโซเดียมอัลจิเนตและพอลิอะคริเลต โดยทำให้มีความเข้มข้นสูงกว่า 200 ppm ได้นานถึง 20 ชั่วโมง การทดลองที่ 4 ศึกษาผลของเม็ดบีทจากไฮโดรเจลยางมะกอกป่าเพื่อควบคุมการปลดปล่อยสารซาโปนินต่อการกำจัดหอย โดยนำเม็ดบีทที่ได้ทดสอบการกำจัดหอยในตู้ทดลองเปรียบเทียบกับสารกำจัดหอยในทางการค้าและกากชา พบว่าการใช้เม็ดบีททำให้หอยตายได้เร็วเทียบเท่ากับการใช้สารเคมีคือตายภายใน 15 ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่ากากชา 6 ชั่วโมง แต่เม็ดบีทมีประสิทธิภาพในการกำจัดหอยได้นานกว่าสารกำจัดหอยในทางการค้า และเม็ดบีททำให้ลูกปลานิลตายน้อยกว่าการใช้สารกำจัดหอยในทางการค้าและกากชาถึง 8.6 และ 3.1 เท่า ตามลำดับ เมื่อนำไปทดสอบใช้งานในนาข้าวพบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมาก