ถุงเพาะต้นกล้าจากแผ่นเซลลูโลสแบคทีเรีย
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
เนวิน ยาคง, ปภัสสรา บุญไสว, ปนัดดา คันนาทิพย์
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
จันทเนตร นะสาโร
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
โครงงานเรื่อง ถุงเพาะต้นกล้าจากแผ่นเซลลูโลสแบคทีเรีย จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาการนำเซลลูโลสจาก Acetobacter xylinum มาทำถุงเพาะต้นกล้าที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำ ดูดความชื้น และย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ สามารถทดแทนการใช้ถุงเพาะชำจากพลาสติกปิโตรเคมีซึ่งเป็นสารอันตราย ทำให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของถุงเพาะต้นกล้าจากแผ่นเซลลูโลสแบคทีเรีย ในการศึกษาการผลิตแผ่นเซลลูโลสทำได้โดยการนำน้ำมะพร้าวแก่ 1 ลิตร มาต้มผสมกับน้ำตาลทราย 80 กรัม และแอมโมเนียมซัลเฟต 3 กรัม จากนั้นรอให้เย็นลงแล้วเติมกรดอะซิติกลงไป 10 มิลลิลิตร ซึ่งเป็นสูตรอาหารเลี้ยงเชื้อ จากนั้นหมักเป็นเวลา 14 วัน พบว่า แบคทีเรียสามารถผลิตเซลลูโลสได้ที่ผิวหน้าของอาหารเลี้ยงเชื้อ คุณภาพของแผ่นเซลลูโลสมีความหนาสม่ำเสมอ 2 เซนติเมตร ไม่มีโพรงอากาศเกิดขึ้นในแผ่นเซลลูโลสและแผ่นเซลลูโลสที่ได้มีความเหนียว นำแผ่นเซลลูโลสที่ได้ไปล้างด้วยน้ำปูนใส เพื่อขจัดความเป็นกรดและกลิ่น ในการขึ้นรูป โดยอบครั้งที่ 1 ด้วยอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นนำไปกดลงแม่พิมพ์เพื่อขึ้นรูปโดยใช้เครื่องกดไฮดรอลิก 120 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร กดค้างไว้เป็นเวลา 2 นาที แล้วนำถุงเพาะต้นกล้าที่ขึ้นรูปสมบูรณ์แล้วไปอบครั้งที่ 2 ด้วยอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อให้ถุงเพาะต้นกล้าคงรูปและสามารถนำไปใช้ได้ จากนั้น ทดสอบการกัดกร่อนจากสภาพความเป็นกรด โดยการนำน้ำมะนาวหยดใส่ถุงเพาะต้นกล้าจากแผ่นเซลลูโลสแบคทีเรีย พบว่า ไม่มีการผุกร่อน ทดสอบความสามารถในการทนแรงดึง พบว่า ถุงเพาะต้นกล้าทนแรงดึงได้มากกว่า 20 นิวตัน (ใช้เครื่องชั่งสปริงขนาด 20 นิวตัน) และทดสอบการคืนสภาพของถุงเพาะต้นกล้าจากแผ่นเซลลูโลสแบคทีเรีย พบว่า ถุงเพาะต้นกล้าจะมีสภาพในลักษณะพองขึ้น ซึ่งมีความหนาและน้ำหนักที่มากขึ้น