การศึกษาภาวะความเครียดของพืชจากเกลือในดินบริเวณอำเภอลำปลายมาศและอิทธิพล ของปุ๋ยมูลหนอนไหมร่วมกับนาโนซิงค์ออกไซด์ต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดินเค็ม และการเจริญเติบโตของพืช
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ชินวัฒน์ สืบสุนทร, ฐาภพ สิงหวรบัญชร, ชุติวัต วาจาจิตร
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ธาราดล สิงห์สูงเนิน, สุพิศ ริสา
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อ
การศึกษาภาวะความเครียดของพืชจากเกลือในดินบริเวณอำเภอลำปลายมาศและอิทธิพลของปุ๋ยมูลหนอนไหมร่วมกับนาโนซิงค์ออกไซด์ต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดินเค็มและการเจริญเติบโตของพืช มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะเนื้อดิน ความหนาแน่นรวม ค่าความเป็นกรดเบส ปริมาณแร่ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมในดินเค็ม และระดับความเค็มของดิน ศึกษาภาวะความเครียดของพืชทดลองที่ปลูกด้วยดินเค็ม และศึกษาการเพิ่มปริมาณแร่ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม การลดระดับความเค็มในดินเค็ม และการเจริญเติบโตของพืชในดินเค็มด้วยปุ๋ยมูลหนอนไหมร่วมกับนาโนซิงค์ออกไซด์ ทำการศึกษาในพื้นที่เกษตรกรรมโนนข้าวสารดำ หมู่ 6 ตำบลโคกล่าม อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างดินและศึกษาลักษณะเนื้อดิน ความหนาแน่นรวม ค่าความเป็นกรดเบส ปริมาณแร่ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมในดินเค็ม ระดับความเค็มของดินก่อนและหลังการทดลอง และศึกษาภาวะความเครียดของพืช
ผลการศึกษาพบว่า ผลจากการศึกษาสมบัติของดิน ได้แก่ ลักษณะเนื้อดิน ความหนาแน่นรวม ค่าความเป็นกรดเบส ปริมาณแร่ธาตุ N P K และค่าการนำไฟฟ้าก่อนและหลังการทดลอง พบว่า ลักษณะเนื้อดินเป็นแบบ SC (SANDY CLAY) เหนียวแต่สากมือ เนื่องจากมีทรายปนจนสังเกตเห็นเม็ดทราย ความหนาแน่นรวมของดินก่อนการทดลองมีค่าสูงกว่าหลังการทดลองเมื่อใส่ปุ๋ยต่างกัน เพราะดินมีความพรุนมากขึ้น ค่าความเป็นกรดเบสก่อนและหลังการทดลองมีค่าเป็นกลาง ปริมาณแร่ธาตุ N P K ก่อนการทดลองปริมาณแร่ธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสอยู่ในระดับต่ำ และโพแทสเซียมอยู่ในระดับปานกลาง หลังการทดลองเมื่อใส่ปุ๋ยมูลหนอนไหมและนาโนซิงค์ออกไซด์มีผลทำให้ปริมาณแร่ธาตุทั้ง 3 ชนิดเพิ่มขึ้น และค่าการนำไฟฟ้าหลังการทดลองลดลง โดยกระถางที่ใส่ปุ๋ยมูลหนอนไหมลดลงมากที่สุด รองลงมา คือ กระถางใส่ปุ๋ยมูลหนอนไหมร่วมกับนาโนซิงค์ออกไซด์ ตามลำดับ ภาวะความเครียดของพืชทดลองที่ปลูกในดินเค็ม ได้แก่ ข้าวโพดพันธุ์เหนียวทับทิม มะเขือเทศพันธุ์เพชรชมพู เป็นเวลา 5 สัปดาห์หลังปลูก พบว่า พืชทั้งสองชนิดแสดงลักษณะความเครียดต่อความเค็มของดินโดยแสดงอาการใบเหลือง ใบเหี่ยว เกิดการตายของใบ ใบร่วง และลำต้นตายลงในที่สุด การศึกษาอิทธิพลของปุ๋ยมูลหนอนไหมร่วมกับนาโนซิงค์ออกไซด์ต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดพันธุ์เหนียวทับทิม เป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่า ความสูงเฉลี่ยของต้นข้าวโพดพันธุ์เหนียวทับทิม มีความสูงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ โดยการทดลองที่ใส่ปุ๋ยมูลหนอนไหมร่วมกับนาโนซิงค์ออกไซด์ ส่งผลให้ความสูงเฉลี่ยของต้นข้าวโพดเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมา คือ การทดลองที่ใส่ปุ๋ยมูลหนอนไหม และไม่ใส่ปุ๋ยตามลำดับ