การพัฒนาประสิทธิภาพการเคลื่อนที่ของแบบจำลอง quad tilt rotor

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

อัญชลี ทองเนื้อแปด, ศศิวิมล ป้องกัน, ศุณัฏฐา ยาใจ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ธิติฏฐ์วัฒน์ เอมสถิตย์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานการพัฒนาประสิทธิภาพการเคลื่อนที่ของแบบจำลอง Quad tilt rotor จัดทำขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษากลไกการปรับเอนใบพัดของอากาศยาน VTOL UAV (vertical takeoff and landing) ซึ่งมีหลักการสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงลักษณะการบินจากการบินขึ้นในแนวดิ่งเปลี่ยนเป็นการบินในแนวระดับ สร้างต้นแบบ Quad tilt rotor และพัฒนาประสิทธิภาพการเคลื่อนที่ ทั้งนี้ได้ศึกษาและรวบรวมรูปแบบกลไกที่ใช้ในการเปลี่ยนลักษณะการบิน ได้แก่ คันชักแบบแยกตัว คันชักแบบหมุนแกน เฟืองแบบแยกตัว เฟืองแบบหมุนแกน และสายพานแบบหมุนแกน นำข้อมูลมาวิเคราะห์ความสามารถในแต่ละฟังก์ชัน ได้แก่ ขนาด น้ำหนัก ขั้นตอนในการทำ (ยาก/ง่าย) ความแม่นยำในการบังคับ และความสามารถในการส่งทอร์ก จากนั้นทำการเลือกรูปแบบกลไกโดยใช้หลักการ Value Analysis and Value Engineering (VA/VE) เพื่อนำต้นแบบกลไกที่ได้ คือ คันชักแบบหมุนแกน ไปสร้างและทดสอบประสิทธิภาพการเคลื่อนที่โดยเริ่มจากการออกแบบขนาดของแบบจำลองในโปรแกรม Solidworks สร้างขึ้นโดยประกอบชิ้นส่วน วงจรและตั้งค่ากับรีโมทวิทยุ และนำแบบจำลอง Quad tilt rotor มาทดลองขึ้นบินโดยมีชนิดของใบพัดเป็นตัวแปรต้น นำกราฟที่ได้จากเซนเซอร์ของเมนบอร์ด ได้แก่ ความสูงและแรงยกที่เปลี่ยนไปในช่วงที่ต้นแบบเปลี่ยนลักษณะการบิน มาวิเคราะห์และเปรียบเทียบประสิทธิภาพ โดยผู้จัดทำโครงงานสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการเคลื่อนที่ของแบบจำลอง Quad tilt rotor ได้ด้วยตนเอง