เครื่องบำบัดกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกิดขึ้นบริเวณมือและแขน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ชาญวริทฒิ์ เอี่ยมวงศรี, ธนภูมิ คงสุทธิ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

วัฒนะ รัมมะเอ็ด

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมมีอาการคอมพิวเตอร์ซิมโดรมซึ่งมีลักษณะการบาดเจ็บสะสมที่เกิดจากการมีพฤติกรรมท่าทางการทำงานในอิริยาบทเดิม ๆ ของผู้ปฏิบัติงานเป็นระยะเวลานาน มีความเครียด ประกอบจากการทำงาน และสภาพแวดล้อมจากการทำงานไม่เหมาะสม บริเวณที่มีการเจ็บปวดเรื้อรังมากที่สุดร้อยละ 24.8 คือ ไหล่-บ่า และรองลงมาร้อยละ 18.1 คือบริเวณ ข้อมือ-มือ (ธันยวงศ์ เศรษฐ์พิทักษ์, 2558) การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่เหมาะสมคือ การทำกายภาพ เพราะมีผลข้างเคียงต่อร่างกายไม่มาก ดังนั้นทางผู้จัดทำจึงได้ประดิษฐ์เครื่องกายภาพบำบัดกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกิดบริเวณมือและแขน ด้วยวิธีการบำบัดแบบ Deep Tissue Massage มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและพัฒนาเครื่องกายภาพบำบัดกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกิดขึ้นบริเวณแขน-มือ โดยเครื่องกายภาพบำบัดประกอบด้วยกลไกการให้ความร้อนจากแผ่นซิลิโคนทำความร้อน ระบบการสั่นสำหรับนวดโดยการใช้มอเตอร์ไม่สมมาตร และกลไกนวดไล่เส้นโดยการใช้ลูกกลิ้ง เพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นของเส้นเอ็น กระตุ้นไหลเวียนโลหิตขับสารก่อให้เกิดความเจ็บปวดที่คั่งค้าง (pain mediator) รูปทรงของเครื่องบำบัดจะเป็นทรงกระบอกยาวจนถึงข้อศอก ด้านนอกสุดจะติดมอเตอร์แกนชักสำหรับส่งแรงให้ลูกกลิ้งเคลื่อนไปตามราง ด้านในจะมีมอเตอร์ไม่สมมาตรและแผ่นซิลิโคนทำความร้อน ถัดเข้ามาจะเป็นผ้ายืดหยุ่นและรางลูกกลิ้งจะอยู่ทั้งด้านในสุด โดยอยู่ด้านบนและล่างของเครื่องบำบัด สามารถปรับขนาดได้ และนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดประเมิน โดยทดลองใช้กับครูโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยปทุมธานี จากนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญด้ายกายภาพบำบัดประเมินประสิทธิภาพในการรักษาก่อนและหลังการใช้งาน