เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซน์ไทโรซิเนสจากส่วนต่างๆของหม่อน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

นฤมล ถินสันเทียะ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

กรกนก ศรีนวลสุข

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฏร์ธานี 1 (ดอนสักผดุงวิทย์)

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในปัจจุบันมีการทดลองคิดค้นสารสกัดเพื่อมายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชันซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดจุดด่างดำ กระ และฝ้าบนผิว ซึ่งเอมไซม์เอนไซม์ไทโรซิเนสเป็นตัวเร่งขั้นตอนแรกของปฏิกิริยาการสร้างเม็ดสีเมลานิน โดยไทโรซิเนสเป็นเอนไซม์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนสีน้ำตาลของเห็ด ผัก ผลไม้การลอกคราบในแมลง การเกิดสีผิว สีผม สีตาของสัตว์ เป็นเอนไซม์ที่ควบคุมกระบวนการสังเคราะห์เมลานิน สารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสจะลดกระบวนการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน ช่วยป้องกันการสะสมของเม็ดสีเมลานิน

หม่อน หรือ มัลเบอร์รี (Mulberry) เป็นพืชอาหารตามธรรมชาติที่มีอายุนาน 80-100 ปี สามารถเจริญได้ดีตั้งแต่เขตอบอุ่นถึงเขตร้อน ผลหม่อนสามารถรับประทานได้ สารสกัดด้วยเมทานอลจากกากหม่อนที่เหลือจากการทำน้ำผลไม้มีฤทธิ์กำจัดอนุมูลอิสระ มีองค์ประกอบทางเคมี ใบมี carotene, succinic acid, adenine, choline, วิตามินซี ผลมี citric acid, วิตามินซี เนื้อไม้มี morin ลำต้น มี steroidal sapogenin เปลือก มี α-amyrin, Bioflavonoid และสาร Glycoprotein ซึ่งมีความสามารถในการยับยั้งเอมไซม์ไทโรซิเนสได้

งานวิจัยนี้จะเป็นการศึกษาองค์ประกอบจากสารสกัดส่วนต่างๆของหม่อน (ราก, ลำต้น, ใบ และผล)โดยวิธีการสกัดสารแบบหยาบจากต้นหม่อนด้วยแอลกอฮอล์ (เอทานอลและเมทานอล) โดยจะต้องนำสารสกัดที่ได้ส่งวิเคราะห์หาองค์ประกอบของสารสกัดจากการประยุกต์ใช้เทคนิค FT-IR (Fourier-transform infrared spectroscopy) และทดสอบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH radical scavenging activity โดยวัดค่าการดูดกลืนแสงที่ 520 นาโนเมตรของสารละลาย DPPH ด้วยเครื่อง Spectrophotometer จากนั้นวิเคราะห์หาประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสด้วยวิธี Dopachrome โดยการวัดค่าการดูดกลืนแสงของสารละลาย DMSO, Tyrosinase mushroom, Tyrosinase ด้วยเครื่อง Spectrophotometer สุดท้ายนำค่าที่ได้จากการทดลองการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสจากส่วนต่าง ๆ ของต้นหม่อนทั้ง 4 ส่วน (ราก, ลำต้น, ใบ และผล) มาเปรียบเทียบกันว่าสารสกัดส่วนใดสามารถในการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสารในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางต่อไป