วัสดุทดแทนกระดูกจากของเสียอาหาร

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ณัฐภัค ดรุมาศ, ธีร์ธัช ภัทรวโรดม, วุฒิภัทร รัตนะโชติวงศ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ศุภลักษณ์ ห้วยหงษ์ทอง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2560

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานนี้เริ่มจากการเตรียมไฮดรอกซีอะพาไทต์จากเปลือกหอยแมลงภู่ด้วยวิธีตกตะกอนร่วมทางเคมี โดยยืนยันผลผลิตด้วยวิธี XRD เตรียมเจลาตินและคอลลาเจนไฮโดรไลแซทจากเกล็ดปลากะพงด้วยความร้อนโดยยืนยันผลผลิตที่ได้ด้วยวิธี UV-VIS Spectrophotometer และเตรียมสารสกัดหยาบสะเดาไทยเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตวัสดุทดแทนกระดูกเทียม นำวัตถุดิบตั้งต้นที่เตรียมได้มาผลิตกระดูกเทียมโดยศึกษาปริมาณพอลิไวนิลแอลกอฮอล์และระยะเวลาเผาที่เหมาะสมในการขึ้นรูปเซรามิกไฮดรอกซีอะพาไทต์พรุน ได้แก่ 10, 20 และ 30 กรัมต่อไฮดรอกซีอะพาไทต์ 100 กรัมที่ระยะเวลาเผา 1, 2.5 และ 5 นาที นำชิ้นงานที่ได้ไปวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพตามมาตรฐาน ASTM C373 และขนาดรูพรุนด้วยวิธี SEM ตามลำดับ ศึกษาอัตราส่วนเจลาติน คอลลาเจนไฮโดรไลแซท และสารสกัดหยาบสะเดาไทยที่เหมาะสมต่อการผลิตวัสดุทดแทนกระดูก ที่อัตราส่วนเจลาตินต่อคอลลาเจนไฮโดรไลแซทที่ 10:1, 10:2.5 และ 10:5 (w/w) และใช้สารสกัดหยาบสะเดาไทยความเข้มข้น 60%, 80% และ 100% (v/v) เป็นตัวทำละลาย โดยแช่ชิ้นงานเซรามิกที่มีสมบัติทางกายภาพเหมาะสมเพื่อให้สารละลายแทรกตัวในรูพรุน ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสารประกอบฟีนอลในสารสกัดหยาบสะเดาไทยก่อนและหลังการทำปฏิกิริยาเชื่อมขวาง สำหรับชิ้นงานจะถูกนำไปอบแห้งเยือกแข็งและนำไปวิเคราะห์คุณสมบัติแบบวิธีคัดออก โดยใช้เงื่อนไขค่ามอดูลัสและค่าต้านทานแรงกดอัด อัตราการเสื่อมสลายในฟอสเฟตบัฟเฟอร์ ความสามารถการสร้างผลึกใหม่ในสารละลายจำลองคล้ายร่างกายตามลำดับ และความสามารในการนำส่งยาต้านแบคทีเรียตามลำดับ