การศึกษาพันธุศาสตร์ของปลา Kamfa ในกลุ่มปลาหมอผสมข้ามพันธุ์
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ธนัตถ์ หยงสตาร์, จิรโชติ รัชตพฤกษ์, ภัทร์วศิน วศินพงศ์ธนัช
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ปิยะ ไชยอ้าย
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
วงศ์ปลาหมอสี (Family : Cichidae) เป็นวงศ์ที่มีจำนวนชนิดมากกว่า 1000 ชนิด และมีการแบ่งเป็นวงศ์ย่อย (Subfamily) ได้อีก ปลาหมอสีจัดอยู่ในวงศ์ย่อย Cichlasomatinae เป็นหนึ่งในปลาสวยงามที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย เนื่องจากมีสีสันสวยงาม มีส่วนหัวที่โหนกนูนแปลกตา ที่ไม่พบในปลาชนิดอื่น อีกทั้งเป็นปลาที่เลี้ยงได้ง่ายและปรับตัวต่อสภาพน้ำต่างๆได้ดี
จากการสำรวจพบว่า ปลาหมอสีที่นิยมเลี้ยงในประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดที่หัวมีโหนก ลำตัวมีสีสันสดใส ข้างลำตัวมีลายแถบสีดำ (มาร์ค) จุดสีขาว (มุก) ที่เห็นได้ชัดเจน และมีใบหางใหญ่ ซึ่งหากมีโหนกหัวขนาดใหญ่ หรือมีลวดลายสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ ก็จะทำให้ปลาได้รับความสนใจ และมีราคาสูง แต่การผลิตปลาหมอสีโดยทั่วไปในปัจจุบัน ได้ปลาลักษณะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ปลาได้รับความนิยมน้อยลง ส่งผลให้ปลามีราคาต่ำลงตามมา
เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาด ที่ต้องการปลาหมอสีที่มีลักษณะโดดเด่นในทุกๆด้าน คณะผู้จัดทำจึงสนใจที่จะพัฒนา “ปลาหมอสี Kamfa” ปลาหมอสี Kamfa เป็นปลาที่มีลักษณะปรากฏสวยงาม ซึ่งเกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์โดยใช้ความรู้ทางพันธุศาสตร์ คือ ใช้ลักษณะปรากฏ (Phenotype) ในการคัดเลือก และผสมพันธุ์ปลา เพื่อให้ได้ปลาที่มีความโดดเด่นด้านสรีระ ลวดลาย และสีสันสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ ที่สามารถจำหน่าย ส่งออกภายในประเทศและต่างประเทศได้
คณะผู้จัดทำจึงศึกษาการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของปลาหมอสี Kamfa ในกลุ่มปลาหมอผสมข้ามพันธุ์ โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาการปรากฏลักษณะ Kamfa ของปลาหมอสีและอธิบายปรากฏการณ์ทางพันธุศาสตร์ โดยใช้ลักษณะปรากฏ (Phenotype) เป็นพื้นฐาน เพื่อเป็นฐานความรู้ในการผสมพันธุ์ปลาหมอสี และเผยแพร่ลักษณะของปลาในแต่ละรุ่นเพื่อการศึกษาและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป